วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

การวาดภาพ (Drawing)



   การวาดภาพ (Drawing) หลักการวาดเขียนเบื้องต้น
          ผู้ที่เริ่มฝึกหัดวาดเขียนใหม่ๆ มักมีปัญหาว่าจะเขียนอะไรก่อนและเขียนอย่างไร ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เป็นแบบในการวาดเขียนนั้นมีหลายประเภทและมีส่วนของราย ละเอียดต่างๆมากมาย จนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สิ่งที่มองเห็นไม่ว่าจะเป็นรูปทรง แสง เงา และพื้นผิว ชนิดต่างๆ ก่อให้เกิดความซับซ้อนจนผู้ที่ฝึกวาดเขียน มองเห็นว่ายากเกินไปที่จะจับลักษณะสำคัญได้
         เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน เราไม่สามารถเริ่มต้นด้วยการมุงหลังคา ติดประตูหน้าต่างหรือเดินสายไฟก่อน แต่จะเริ่มต้นด้วยการตั้งเสาและคาน ซึ่งเป็นโครง สร้างทั้งหมดของบ้านเสียก่อน เมื่อโครงสร้างถูกต้อง มั่นคงแข็งแรงดีแล้ว จึงไล่ลำดับไปสู่การมุงหลังคา ทำฝาผนัง ทำพื้น ตกแต่งภายใน กับการเขียนภาพก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนภาพจะต้องพิจารณาหุ่นต้นแบบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วจะค้นพบและเข้าใจโครงสร้างของหุ่นต้นแบบจากนั้นก็จะกลาย เป็นเรื่อง ง่ายเพราะลำดับวิธีการที่ถูกต้องนั่นเอง

   วาดเส้น (Drawing)

        การวาดเส้นมีวิธีการและขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากโดยใช้เส้นต่างๆ แสดงถึงลักษณะการเคลื่อนไหวของเส้น น้ำหนักของเส้น และความมั่นใจในการวาดเส้น สิ่งที่ี่ผู้ฝึกควรฝึกด้วยตัวเองในขั้นแรกให้เขียนเส้นตรง เส้นตั้ง และเส้นเอียง เส้นเฉียงซ้ำๆ กัน ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้เส้น-ผสานกับมือและสายตา โดยให้สังเกตจากแสงเงาเป็นตัวกำหนดน้ำหนัก

   เคล็ดไม่ลับ

    “ การเลือกมุมที่จะเขียนก็นับว่าเป็นส่วนส่งเสริมกำลังใจให้มุ่งมั่นในการวาดเขียนได้อย่างดี หากเลือกมุมที่เขียนยาก สังเกตน้ำหนัก แสง เงา หรือรูปทรง ไม่ชัดเจน ถ่ายทอดด้วยการวาดเขียนลำบาก อาจทำให้กำลังใจท้อถอยได้ง่ายในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกมุมที่สังเกต เห็นความงามของหุ่นต้นแบบทุกด้าน อย่างชัดเจนและสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดั่งใจ ตามระดับฝีมือของผู้เขียนก็จะทำให้มีกำลังใจมีความอยากเขียนวาดภาพได้อย่างต่อเนื่องและสนุกกับการวาด ”
   **ข้อสังเกต**
   การเลือกมุมมองเพื่อวาดเขียนอย่างง่ายๆ โดยทั่วไปคือ ควรเลือกมุมที่สามารถมองเห็นแสงมองเห็น
น้ำหนักอ่อน แก่ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนบนหุ่นต้นแบบได้ชัดเจนทุกจุด

    ลักษณะของเส้น (CHARACTERISTICS OF LINE)

          ลักษณะของเส้นก็คือคุณค่าทางกายภาพของเส้นนั่นเอง ขนาดและทิศทางของเส้นจะมีลักษณะของความ
หมาย เช่นเดียวกับลักษณะนั้นๆ เช่น
       ลักษณะที่ 1 เส้นดิ่ง และ เส้นตั้ง แสดงถึงความมั่นคงแข็งแรง,สง่า สงบ,คงอยู่ตลอดไป,มั่นคงถาวร,ไม่เคลื่อนไหว นิยมใช้สำหรับการเขียนภาพอาคาร อย่างเช่น สร้างรูปแบบของธนาคารที่มีเส้นตรงๆ ให้ความรู้สึกถึงความมั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มง่าย หมายถึงความรู้สึกของผู้ที่เข้าไปฝากธนาคารด้วย อย่างนี้เป็นต้น
       ลักษณะที่ 2 เส้นขนาน และ เส้นนอน แสดงถึงความรู้สึกไม่สิ้นสุดไปได้เรื่อยๆ ความสงบ,ความราบรื่น ความเรียบง่าย
ลักษณะที่ 3 เส้นเฉียง แสดงถึงความรู้สึกไม่มั่นคง,อันตราย,กำลังจะล้มแล้ว,โอนเอน,โอนอ่อนผ่อนตาม
ความไม่สมดุล
       ลักษณะที่ 4 เส้นหยัก โดยใช้เส้นเฉียงมาต่อกันในลักษณะคล้ายๆ กับฟันปลา แสดงถึงความแหลมคม บาดเจ็บ,อันตราย,การทำลาย,การเคลื่อนไหวที่มีพลังอย่างต่อเนื่อง การขึ้นๆ ลงๆ ของดัชนีอย่างตลาดหุ้น ซึ่งมีเป็นเส้นพารากราฟขึ้นมา
       ลักษณะที่ 5 เส้นโค้ง แสดงถึงความอ่อนน้อม,นุ่มนวล
       ลักษณะที่ 6 เส้นขยุกขยิก แสดงถึงความสับสน,ยุ่งเหยิง,วุ่นวาย,ตื่นเต้น
นอกจากลักษณะของเส้นแล้วยังมีทิศทางของเส้น ได้แก่แนวราบ แนวเฉียง แนวลึก แนวดิ่ง จากทิศทางก็เป็นขนาด ขนาดของเส้นนั้นไม่มีความกว้างมีแต่ความหนา ความบาง เส้นใหญ่หรือเส้นเล็ก ความหนาของเส้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความยาวเป็นหลัก เพราะเส้นที่สั้นมากจะมีความหนาดูคล้ายกับเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งจะหมดคุณสมบัติของเส้นจะกลายเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า

     หน้าที่ของเส้น เส้นมีหน้าที่ที่พอจะจำกัดความได้ดังนี้

       1.ใช้เป็นสำหรับการแบ่งพื้นที่ หรือที่ว่างให้แยกออกจากกัน
       2.ใช้เป็นส่วนจำกัดพื้นที่ของรูปทรง
       3.ใช้สร้างลักษณะต่างๆ ที่ศิลปินต้องการสร้างขึ้นมา เช่น สร้างเส้นตรง เส้นโค้งคด เส้นหยักฟันปลาหรือเส้นวงเป็นก้นหอย
        4.ใช้สร้างความเป็น 2 มิติ และ 3 มิติให้แก่รูปทรง ให้เป็นรูประยะตื้น ลึก หนา บาง
        5.ใช้แสดงแกนของสิ่งทั้งหลาย
        6.ใช้สร้างให้เกิดทิศทางและการเคลื่อนไหว
        7.ใช้สร้างให้เกิดแสงและเงา ด้วยการประสานเส้นโดยเส้นที่ถี่ และเส้นที่ห่าง
        8.ใช้พัฒนาเทคนิคในการใช้เส้นของตัวเองที่ถ่ายทอดเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกที่อยากจะถ่ายทอดออกมาให้ได้ตรงที่สุด

      ค่าของแสงและเงา แบ่งได้เป็น 6 ค่าระดับ

        1.แสงสว่างที่สุด (HIGH LIGHT) เป็นส่วนของวัตถุที่กระทบแสงโดยตรง จึงจะทำให้บริเวณนั้นสว่างมากที่สุด
        2.แสงสว่าง (LIGHT) เป็นส่วนของวัตถุที่ไม่ได้ปะทะกับแสงที่ส่องมาโดยตรง แต่อยู่ในอิทธิพลของแสงนั้นด้วย
        3.เงา (SHADOW) อยู่ในส่วนรับอิทธิพลของแสงน้อยมาก
        4.เงามืด (CORE OF SHADOW) อยู่ในส่วนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงเลย
        5.แสงสะท้อน (REFLECTED LIGHT) บริเวณของวัตถุที่ไม่ได้รับแสงโดยตรง แต่เป็นการสะท้อนของแสง จากวัตถุใกล้เคียง
        6.เงาตกทอด (CAST SHADOW) บริเวณที่เงาของวัตถุนั้นตกทอดไปตามพื้นหรือตามวัตถุอื่นที่รองรับน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน

      แสง – เงา
      แสง-เงา = ความสว่างและความมืด มีผลต่อความรู้สึกและการรับรู้อิทธิพลของแสง เป็นสิ่งสำคัญในการที่ต้องศึกษา ทั้งในด้านความงามในธรรมชาติบนวัตถุ สามารถทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึก


   ลำดับขั้นตอนในการร่างภาพ

       1. สังเกตลักษณะของหุ่น
       2. ร่างภาพโครงสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับหน้ากระดาษ
          วิธีการร่างภาพโครงสร้าง-สัดส่วนมีวิธีการดังนี้
           2.1 ให้ลากเส้นตรงในแนวดิ่งหนึ่งเส้น
           2.2 จากนั้นกำหนดส่วนสูงที่สุดของหุ่นและส่วนที่ต่ำที่สุดของหุ่นโดยการลากเส้นในแนวนอนให้ตั้งฉากกับเส้นดิ่ง
           2.3 กำหนดความกว้างของหุ่นโดยประมาณ แล้วกำหนดสัดส่วนให้เท่ากัน
           2.4 เมื่อกำหนดโครงสร้างรวมของหุ่นแล้ว จากนั้นให้เขียนเส้นโค้ง เส้นเว้า เพื่อให้โครงสร้างใกล้เคียงหุ่นมากที่สุด
      3. ลงน้ำหนักรวมๆของหุ่น
      4 .แรน้ำหนักพร้อมทั้งเก็บรายละเอียด

      ภาพคนเหมือน ( Portrait ) และหุ่นปูน

        การวาดภาพคนเหมือนนั้นคือการวาดตั้งแต่บริเวณส่วนศีรษะจนถึงเอวเป็นการที่ผู้เริ่มต้นควรฝึกวาดให้เกิดความชำนาญเพราะใบหน้าเป็นส่วนที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เช่น ตา หู จมูก ปาก ดังนั้นผู้เริ่มต้นควรฝึกฝนให้เข้าใจการวาดภาพคนเหมือนนั้นแบ่งสัดส่วนออกเป็นทั้งหมด 3ส่วนครึ่ง
       ส่วนที่ 1 จากปลายคางถึงปลายจมูก
       ส่วนที่ 2 จากปลายจมูกถึงคิ้ว
       ส่วนที่ 3 จากคิ้วถึงโคนผม
       ส่วนที่ 3 1/2จากโคนผมจนถึงส่วนบนของศีรษะ
       ก่อนจะฝึกวาดภาพคนเหมือนนั้นควรฝึกวาดหุ่นปูนเสียก่อนซึ่งสามารถใช้เป็น
พื้นฐานในการวาดภาพคนเหมือน เช่น หุ่นเหลี่ยม หุ่นวีนัส หุ่นเดวิดฯลฯ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจในการวาดภาพคนเหมือนได้ง่ายยิ่งขึ้นและเพื่อพัฒนาไปสู่การวาดภาพคนเหมือนเต็มตัว( Figure )
         การวาดภาพคนเหมือนควรแบ่งสัดส่วนให้ถูกต้องชัดเจนเพราะสัดส่วนบนใบหน้าของคนนั้น หากเราเขียนด้วยความไม่เข้าใจถึงจะวาดออกมาสวยแต่ สัดส่วน ไม่ถูกต้องก็จะทำให้ภาพนั้นดูผิดเพี้ยนไป ดังนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องสัดส่วนเป็นสำคัญแต่ถ้าฝึกฝนจนชำนาญผู้วาดไม่ต้องกำหนดสัดส่วนตามกฏเกณฑ์ก็ได้อาจจะ กำหนดสัดส่วนขึ้นมาเองโดยที่ไม่ต้องลากเส้นแบ่งสัดส่วนแต่ใช้การกะหาระยะด้วยสายตาเอา ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและความชำนาญของแต่ละคน


     ภาพคนเต็มตัว ( Figure )
           การวาดภาพภาพคนเต็มตัวนั้นคือการวาดคนตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า เพื่อศึกษาระบบกล้ามเนื้อ โครงกระดูก สัดส่วน สรีระร่างกายและท่าทางการเคลื่อนไหว
      การวาดคนเต็มตัว ( Figure ) มีการแบ่งสัดส่วนออกเป็นทั้งหมดของร่างกายโดยมาตรฐาน 7ส่วนครึ่ง
          ส่วนที่ 1 จากศีรษะบนสุด จนถึง ปลายคาง
          ส่วนที่ 2 จากปลายคาง จนถึง กลางหน้าอก
          ส่วนที่ 3 จากกลางหน้าอก จนถึง สะดือ
          ส่วนที่ 4 จากสะดือ จนถึง โคนขา
          ส่วนที่ 5 จากโคนขา จนถึง กึ่งกลางขาอ่อน
          ส่วนที่ 6 จากกึ่งกลางขาอ่อน จนถึง น่อง
          ส่วนที่ 7 จากน่อง จนถึง ข้อเท้า
          ส่วนที่ 7 1/2 จากข้อเท้า จนถึง ส้นเท้า

       การที่จะวาดภาพคนเต็มตัวได้ดีนั้นควรจะต้องศึกษากายวิภาค (Anatomy) ควบคู่ไปด้วย การศึกษา
วิชากายวิภาคจะเป็นการเรียนรู้เรื่องของสัดส่วนเริ่มจากสัดส่วนของกระโหลก กระดูก โครงสร้างของร่างกายทั้งหมดแล้วค่อยๆศึกษาเรื่องกล้ามเนื้อที่ผูกยึดติดกับกระดูกนั้นๆหลังจากนั้นก็วาดภาพที่มีผิวหนังห่อหุ้มอยู่เป็นขั้นตอน การเรียนรู้ของกายวิภาคซึ่งจะต้องเรียนรู้ทั้งหมดตั้งแต่ ชาย หญิง วัยรุ่น เด็ก และคนชรา หากเราจะเขียนภาพคนเต็มตัว (Figure) ให้ชำนาญถูกต้อง ให้เริ่มโดยการศึกษาเรื่องของโครงกระดูกทั้งร่างกายพยายามจำรายละเอียดลักษณะของกระดูกแต่ละส่วนให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะศึกษาเรื่องของกล้ามเนื้อที่มายึดติดกับกระดูก



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น