วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

เอกสารโบราณประเภทจารึก


เอกสารโบราณประเภทจารึก
           จารึก คือ เอกสารโบราณประเภทหนึ่ง ที่มีรูปอักษรเป็นร่องรอยลึกลงในเนื้อวัตถุต่างๆ ซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก เช่น รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นศิลา เรียกว่าศิลาจารึก รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นไม้ เรียกว่า จารึกบนแผ่นไม้ รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นโลหะ ซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายใบลาน เช่น แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาก เรียกว่า จารึกลานทอง จารึกลานทองแดง จารึกลานเงิน และจารึกลานนาก เป็นต้น
           ความสำคัญของจารึก คนสมัยโบราณจะจารึกอักษรไว้บนวัตถุเนื้อแข็ง มีสภาพคงทนถาวร มีอายุการใช้งานได้นาน เช่นผนังถ้ำ แผ่นศิลา แผ่นดินเผา แผ่นไม้ และแผ่นโลหะอื่นๆ ด้วยวัตถุที่แหลมคม ซึ่งเรียกว่า เหล็กจาร อักษรที่จารึกจะเป็นข้อความที่บ่งบอกให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของผู้ทำจารึก หรือประกาศเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นให้ผู้อื่นทราบ โดยไม่มีเจตนาที่บันทึกไว้เพื่ออ่านเอง ฉะนั้น จารึกจึงเป็นหลักฐานทางเอกสารที่สำคัญ ที่สะท้อนให้ประชาชนในปัจจุบันได้เห็นสภาพทางสังคมของบรรพชนแต่ละท้องถิ่นในอดีต แต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ภาพที่สะท้อนออกมาจากข้อความของจารึกมีทั้งด้านประวัติศาสตร์ ลัทธิความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม และธรรมเนียมประเพณีการดำรงชีวิตในสังคม เป็นต้น ซึ่งได้กลายเป็นมรดกตกทอดและพัฒนามาจนถึงสังคมปัจจุบัน
           อักษรที่ใช้ในจารึก เอกสารประเภทจารึกที่พบในประเทศไทยมีรูปแบบอักษรต่างๆ ตามอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ดินแดนบริเวณแถบนี้ในอดีต หรือที่เรียกว่า ดินแดนของประเทศไทย ในปัจจุบันเมื่อแบ่งเป็นกลุ่มประเภทอักษรตามอายุสมัยแล้ว ได้ดังนี้
     ๑. อักษรปัลลวะ
     ๒. อักษรหลังปัลลวะ (ปัลลวะที่เปลี่ยนรูป)
     ๓. อักษรมอญโบราณ
     ๔. อักษรขอมโบราณ
     ๕. อักษรขอม
     ๖. อักษรมอญ
     ๗. อักษรไทยสุโขทัย
     ๘. อักษรธรรมล้านนา
     ๙. อักษรไทยล้านนา
     ๑๐. อักษรไทยอยุธยา
     ๑๑. อักษรธรรมอีสาน
     ๑๒. อักษรไทยอีสาน
     ๑๓. อักษรไทยใหญ่
     ๑๔. อักษรไทยย่อ
     ๑๕. อักษรขอมย่อ
     ๑๖. อักษรพม่า
     ๑๗. อักษรพม่าย่อ
     ๑๘. อักษรเฉียงขอม
     ๑๙. อักษรเฉียงคฤนถ์
     ๒๐. อักษรเฉียงพราหมณ์
     ๒๑. อักษรอริยกะ
     ๒๒. อักษรทมิฬ
     ๒๓. อักษรจีน
     ๒๔. อักษรยาวี
     ๒๕. อักษรสิงหฬ
     ๒๖. อักษรเทวนาครี
     ๒๗. อักษรบาหลีโบราณ
     ๒๘. รูปอักษรอื่นๆ

อักษรจารึกที่พบในประเทศไทย เฉพาะที่สำคัญซึ่งมีอายุเก่าแก่ตามยุคสมัยที่พัฒนามาโดยลำดับ คือ
     ๑. อักษรปัลลวะ จากจารึกบ้านวังไผ่ เพชรบูรณ์ สันนิษฐานว่า พ.ศ.๑๐๙๓
         อักษรปัลลวะ จากจารึกปราสาทเขาน้อย ปราจีนบุรี พ.ศ.๑๑๘๐
     ๒. อักษรหลังปัลลวะ จากจารึกเนินสระบัว ปราจีนบุรี พ.ศ.๑๓๐๔
     ๓. อักษรมอญโบราณ จากจารึกเสาแปดเหลี่ยม ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔
     ๔. อักษรขอมโบราณ จากจารึกปราสาทตาเมือนธม พ.ศ.๑๔๒๑
     ๕. อักษรไทยสุโขทัย จากจารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ.๑๘๓๕
     ๖. อักษรไทยสมัยอยุธยา จากจารึกแผ่นดินดีบุก พ.ศ.๑๙๑๗
     ๗. อักษรธรรมล้านนา จากจารึกลานทองคำ พ.ศ.๑๙๑๙
     ๘. อักษรไทยล้านนา จากจารึกลำพูน ๙ พ.ศ.๑๙๕๔
     ๙. อักษรไทยอีสาน จากจารึกหนองคาย ๑ พ.ศ.๒๐๑๕


          ภาษาที่ใช้ในจารึก เอกสารโบราณประเภทจารึกที่พบในประเทศไทย นอกจากจะมีรูปอักษรแบบต่างๆ แล้ว ยังจารึกเป็นภาษาต่างๆ ด้วย เมื่อจารึกมีอายุเก่าแก่มาก ประมาณ ๑,๕๐๐ ปีเป็นต้น ภาษาที่ใช้ในจารึกก็เก่ามากเช่นกัน จึงเป็นการยากที่คนในปัจจุบันจะเข้าใจ ฉะนั้น นักภาษาโบราณซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาและอักษรโบราณจึงต้องถ่ายทอด หรือปริวรรตอักษรในจารึกเป็นอักษรไทยปัจจุบัน แล้วแปลภาษาที่ปรากฏในจารึกเป็นภาษาไทยปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ข้อความในจารึกสมัยต่างๆ ให้ประชาชนคนปัจจุบันเข้าใจได้ ภาษาที่ปรากฏใช้ในจารึก มีดังนี้
     ๑. ภาษาบาลี
     ๒. ภาษาสันสกฤต
     ๓. ภาษามอญ
     ๔. ภาษาเขมร
     ๕. ภาษาทมิฬ
     ๖. ภาษาพม่า
     ๗. ภาษาไทยใหญ่
     ๘. ภาษาไทยโบราณ
     ๙. ภาษาไทยล้านนา
     ๑๐. ภาษาไทยอีสาน
     ๑๑. ภาษาอาหรับ
     ๑๒. ภาษามลายู
     ๑๓. ภาษาจีน
     ๑๔. ภาษาอื่นๆ

            ความเป็นมาของรูปอักษร อักษรปัลลวะถือว่าเป็นรูปอักษรที่เก่าที่สุดเท่าที่พบจารึกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า ปัลลวะ เป็นชื่อของราชวงศ์หนึ่งซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองในภาคใต้ของอินเดีย อักษรที่ใช้ในสมัยของราชวงศ์นี้ จึงเรียกว่า อักษรปัลลวะ
          อินเดียสมัยโบราณ เป็นประเทศที่มีความเจริญสูงสุด เป็นประเทศมหาอำนาจในด้านอารยธรรม ได้เผยแพร่อิทธิพลทางอารยธรรมออกสู่ประเทศใกล้เคียงทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมีนักบวชในศาสนาและพ่อค้าวาณิช เป็นผู้นำอารยธรรมไปเผยแพร่ในถิ่นที่เดินทางไปค้าขายในต่างแดน เมื่อถึงบ้านใด เมืองใด พวกพ่อค้าวาณิชเหล่านนี้ ก็หยุดพักปฏิบัติภารกิจของตนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ได้นำอารยธรรมใหม่ๆ ที่ตนมีออกเผยแพร่ ถ่ายทอดแก่ชนพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย ทำให้สังคมท้องถิ่นนั้นๆ พัฒนาตนเองไปสู่ความเจริญตามอารยธรรมของอินเดีย ทั้งทางด้านวัฒนธรรมประเพณี ลัทธิความเชื่อทางศาสนา อักษรและภาษา เป็นต้น เราพบจารึกบ้านวังไผ่ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกวัดมเหยงค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกปากน้ำมูล ที่จังหวัดอุบลราชธานี จารึกกไดอัง ที่ประเทศกัมพูชา จารึกของพระเจ้าปูรณวรมัน ที่ประเทศอินโดนีเซีย จารึกพระเจ้ามหานาวิกพุทธคุปตะ ที่ประเทศมาเลเซีย จารึกปยู ที่ประเทศพม่า และจารึกสถูปศิลา ที่ประเทศบรูไน เป็นต้น จารึกเหล่านี้เป็นอักษรปัลลวะ และเป็นจารึกที่มีอายุสมัยเก่าที่สุดของประเทศนั้นๆ นั่นหมายถึงว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ได้รับอารยธรรมทางด้านอักษรจากอินเดีย สมัยราชวงศ์ปัลลวะ ที่เจริญรุ่งเรืองทางตอนใต้ของอินเดีย ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑
          ในประเทศไทย เมื่อเราพบว่า จารึกอักษรปัลลวะเป็นอักษรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด นั่นหมายถึงว่า ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านอักษรจากประเทศอินเดียในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ จารึกบ้านไผ่ ซึ่งถือว่าเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ คือประมาณ พ.ศ.๑๐๙๓ (สันนิษฐานจากข้อความจารึกที่ว่า พระองค์ (พระเจ้าภววรมันที่ ๑) ได้สร้างจารึกหลักนี้ในปีที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๑๙๐๓”) ฉะนั้น จึงถือว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางด้านอักษรจากประเทศอินเดียเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ และอักษรปัลลวะนี้เอง ที่เป็นต้นแบบให้วิวัฒนาการเป็นอักษรต่างๆ เช่น อักษรขอมโบราณ อักษรมอญโบราณ และวิวัฒนาการต่อไปเป็นอักษรไทยโบราณ อักษรไทยล้านนา และอักษรไทยน้อย เป็นต้น ตามลำดับ

           ประโยชน์ของศิลาจารึก ในอดีตกาลระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๙ ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีกระดาษสำหรับใช้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น บรรพชนจึงใช้ศิลาเป็นที่จดบันทึก เพื่อบอกให้ผู้อื่นทราบเหตุการณ์ดังกล่าว เราเรียกแผ่นศิลาที่จดบันทึกเหตุการณ์นั้นว่า ศิลาจารึก ฉะนั้น ประโยชน์ของศิลาจารึก คือ
๑.     เป็นเอกสารอ้างอิงทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ อักขรวิทยา ศาสนา และสังคม
     ๒. ทำให้ทราบประวัติศาสตร์การก่อตั้ง การปกครองบ้านเมืองในอดีตกาล
     ๓. ทำให้ทราบประวัติของโบราณสถานที่มีอยู่ในประเทศไทยว่า ใครเป็นผู้สร้างและสร้างเพื่อวัตถุประสงค์ใด
     ๔. ทำให้ทราบประวัติของลัทธิศาสนาที่เข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
     ๕. ทำให้ทราบว่า กลุ่มชนสมัยโบราณได้รับอิทธิพลทางการศึกษา วัฒนธรรมอารยธรรม ประเพณี อักษร และภาษามาจากประเทศอินเดีย
     ๖. ทำให้ทราบว่า อักษรที่ใช้ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑
     ๗. ทำให้ทราบว่า อักษรปัลลวะเป็นต้นกำเนิดวิวัฒนาการเป็นอักษรมอญ ขอม และไทย
     ๘. ทำให้ทราบว่า กลุ่มชนสมัยโบราณ ใช้ภาษาบาลี สันสกฤต มอญ เขมรและไทย
     ๙. ทำให้ทราบข้อมูลความเคลื่อนไหว โยกย้ายถิ่นของกลุ่มชนท้องถิ่นที่เป็นมอญ เขมรและไทย

           คัมภีร์ใบลาน
คัมภีร์ใบลาน คือ เอกสารที่ทำจากใบของต้นลานซึ่งเป็นต้นไม้ป่าชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่มีใบและทางยาวกว่าต้นตาล มีผลเป็นทะลายเหมือนต้นหมากหรือต้นมะพร้าว แต่ผลจะมีขนาดเล็กเท่าขนมบัวลอย ใช้ทำเป็นของหวานรับประทานได้ หรือจะเรียกว่าเป็นตระกูลเดียวกับต้นตาลก็ได้ ก่อนที่จะนำใบลานมาทำให้เป็นคัมภีร์ใบลานหรือหนังสือใบลานนั้น ต้องผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเลือกใบลาน นิยมเลือกเฉพาะใบที่ไม่อ่อนไม่แก่และที่มีใบขนาดเท่ากัน เมื่อเลือกเสร็จก็ทำการตัดจากต้นแล้วเจียนก้านออกมัดรวมกันนำไปแช่น้ำ ประมาณ ๑ คืน แล้วนำขึ้นมาตากแดดให้แห้ง เสร็จแล้วนำใบลานแต่ละใบมาแทงบนขนอบที่เป็นแม่พิมพ์สำหรับแทงใบลานโดยเฉพาะ อีกวิธีหนึ่งคือ นำใบลานที่มัดรวมกันไปนึ่งหรืออบในเตา เพื่อให้ใบลานแห้งสนิทเร็วขึ้นและช่วยไม่ให้เกิดเชื้อราอีกด้วย จากนั้นนำใบลานแต่ละใบที่แทงแล้วมาเรียงซ้อนกันประกับหน้าหลังด้วยขนอบตามต้องการ ใช้มีดคมตัดลานให้เสมอ หรือจะใช้กบไสเพื่อให้ขอบใบลานทั้ง ๔ ด้าน คลี่ออกแล้วใช้ทรายละเอียดคั่ว หรือตากแดด ให้ร้อนจัดโรยลงบนใบลาน ใช้ลูกประคบถูไปมาหลายๆ ครั้ง เพื่อให้หน้าลานสะอาดไม่มีฝุ่นจับ ใบลานจะเรียบเสมอกันตลอดแล้วจึงใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะตามช่องที่แทงไว้แต่ตอนแรกทั้งด้านซ้าย-ขวา จากนั้นใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดใบลานทีละใบอีกครั้งหนึ่ง ก็สำเร็จเป็นใบลานพร้อมที่จะใช้จารหนังสือตามต้องการ
           หนังสือสมุดไทยและอื่นๆ
           หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารโบราณที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้ เช่น เปลือกปอ เปลือกข่อย เปลือกสา ใยสับปะรด เป็นต้น ทำให้หนาพอสมควรและเป็นแผ่นยาวๆ ติดต่อกันพับกลับไปกลับมาได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้รองรับการเขียน การชุบตัวอักษร การเขียนภาพ การเขียนลายเส้นต่างๆ และเขียนได้ทั้ง ๒ ด้าน ในลักษณะเป็นหนังสือจดหมายเหตุบ้าง หมายรับสั่งบ้าง ตำนานบ้าง ตำราบ้าง วรรณกรรมเรื่องต่างๆ บ้าง ที่นิยมเรียกว่า สมุดข่อย เพราะส่วนมากใช้เปลือกข่อยทำเป็นกระดาษ และคนไทยเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์ขึ้น จึงเรียกว่า หนังสือสมุดไทย มี ๒ สี คือ สีดำ เพราะย้อมกระดาษเป็นสีดำ จึงเรียกว่าหนังสือสมุดไทยดำ ส่วนที่เป็นสีขาว เพราะกระดาษไม่ได้ย้อมสี คงสีตามธรรมชาติ เรียกว่า หนังสือสมุดไทยขาว
        กระดาษเพลา คือ กระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ เหมือนอย่างทำหนังสือสมุดไทย แต่ทำให้เป็นแผ่นบางๆ เรียกว่า กระดาษเพลา ทั้งนี้ต้องการทำเพื่อใช้ในรูปแบบหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) มีไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงหัวเมือง หรือจากหัวเมืองถึงกรุงเทพฯ ทำเป็นใบบอกบ้าง ใบฎีกาและอื่นๆ บ้าง นิยมเขียนด้วยดินสอ ไม่นิยมเขียนด้วยเส้นหมึก เพราะกระดาษบาง หมึกจะซึม ทำให้อ่านตัวอักษรไม่ชัดเจน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวบ้าง สั้นบ้าง แล้วแต่เรื่อง
       กระดาษสา คือ กระดาษที่ทำจากเปลือกของต้นสาโดยตรง ถ้าต้องการทำเพื่อใช้ในรูปหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) ใบบอก ใบฎีกา ทำสำเนาและอื่นๆ ก็จะทำเป็นแผ่นบางๆ ถ้าต้องการทำเป็นหนังสือจดหมายเหตุ หมายรับสั่ง ตำนาน พงศาวดาร เป็นต้น ก็ทำให้หนาแข็งแรงพอที่จะเป็นหนังสือได้
       กระดาษฝรั่ง สมุดฝรั่ง คือ กระดาษที่ชาวต่างประเทศ (ฝรั่ง) เป็นผู้คิดค้นผลิตขึ้นเป็นแผ่นบางๆ ไทยนำมาใช้ในหลายรูปแบบโดยเฉพาะเป็นหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) และอื่นๆ เมื่อเห็นว่าใช้ได้ดี สามารถจะจัดเก็บได้สะดวกเป็นระเบียบ คนไทยจึงนำมาใช้แทนเอกสารประเภทกระดาษเพลา กระดาษสา และเพราะฝรั่งเป็นผู้ผลิตจึงเรียกว่า กระดาษฝรั่ง เมื่อต้องการจัดเข้าเป็นชุดไม่ให้แต่ละแผ่นกระจัดกระจายก็นำแต่ละแผ่นนั้นมาเรียงซ้อนกัน ทำใบปกหน้า-หลัง ให้เป็นรูปเล่ม จึงเรียกว่า สมุดฝรั่ง
       ใบจุ้ม คือ เอกสารที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าไหม หรือด้าย ทอเป็นผืนยาว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จุดประสงค์เพื่อต้องการใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ตำนานพงศาวดาร เนื้อหาส่วนใหญ่ที่พบเป็นเอกสารทางราชการประเภทจดหมายเหตุ ลักษณะเส้นอักษรที่ปรากฎ คือ เส้นจากการใช้ปากกาคอแร้ง หรือปากไก่จุ่มหรือจุ้มหมึก แล้วเขียนตัวอักษรไทยน้อย บันทึกข้อความเนื้อหาเป็นพระราชโองการหรือเหตุการณ์บ้านเมืองเกี่ยวกับการปกครองของอาณาจักรล้านช้าง และส่วนใหญ่ประทับตราประจำพระองค์ หรือตราประจำตำแหน่งของผู้ออกหนังสือไว้ตอนท้ายด้วย

เกษียร มะปะโม นักอักษรศาสตร์ ๙ ชช. (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ)
เอกสารโบราณ ในคู่มือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น