วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

นิทาน เรื่อง ปลูกถั่ว




ชื่อผู้แต่ง : นางสาวกรพัชรา  สังข์โคตร
จำนวนหน้า :  13  หน้า
เรื่องย่อ : มาปลูกถั่วเหมือนอย่างวิลลี่และเดปกันเถอะ  วิธีปลูกก็แสนง่ายลองทำตามขั้นตอนและวิธีที่วิลลี่บอกไว้  การดูถั่วเจริญเติบโตก็น่าสนุกตื่นเต้นดีเหมือนกัน























 สามารถดาวร์โหลด  คลิกที่

วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

การเลือกหนังสือให้เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย

    การเลือกหนังสือให้เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย
        ขึ้น ชื่อว่า เด็ก คำๆ เดียวกัน แต่ใช้ว่าทุกคนจะเหมือนกัน โดยเฉพาะพัฒนาการ ลักษณะนิสัย และความสนใจใคร่รู้ ย่อมแตกต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อมของครอบครัว และวิธีการเลี้ยงดู เช่นกันกับหนังสือที่ต้องเลือกให้ตรงกับช่วงวัยของเด็กด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นตามมา ต่อยอดให้เด็ก รู้จักโลกของหนังสือ จนกลายเป็นเด็กรักการอ่านในที่สุด

         เริ่มต้นสัปดาห์แรกของเดือนแห่งความรัก ทีมงาน Life and Family มีคำแนะนำพ่อแม่ผู้อ่านที่รัก ในการเลือกหนังสือภาพให้ลูกตามแต่ละช่วงวัย โดยอ้างอิงจากหนังสือ พัฒนาลูกน้อยด้วยการอ่านของ "ทาดาชิ มัตษุอิ" ปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือภาพเพื่อเด็ก เพื่อเป็นแนวทาง และตัวเลือกในการซื้อหนังสือภาพให้ลูกน้อยได้อย่างเข้าใจกันครับ

          หนังสือภาพสำหรับเด็กวัย 0-3 ขวบ
            หนังสือภาพสำหรับ "เด็กวัยทารก" นี้ ไม่ใช่หนังสือสำหรับอ่าน เด็กจะสนใจหนังสือภาพเหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง ซึ่งจะเห็นหนังสือภาพเป็นของสี่เหลี่ยมที่มีภาพติดอยู่ และเปิดปิดได้ ซึ่งพอเปิดดูข้างในแล้ว ก็มีภาพต่างๆ หลากหลายสี เรียงรายกันอยู่ในแต่ละหน้า เด็กจะรู้สึกสนุกกับการค้นพบ สำหรับสิ่งที่น่าสนใจนี้ ถ้าเปิดหน้าไหนแล้ว พบภาพสิ่งที่เด็กรู้จัก เช่นแมว สุนัข รถ กล้วย ส้ม เด็กจะยิ่งสนใจมากเป็นพิเศษ และจะส่งเสียงร้อง บื๋อ บื๋อ เมื่อเห็นภาพรถ เลียนเสียงเห่า บ๊อก บ๊อก เมื่อเห็นภาพสุนัข

             สำหรับหนังสือภาพที่เหมาะสมกับเด็กวันนี้ ควรเป็นหนังสือภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ รถชนิดต่างๆ หรือสิ่งของในชีวิตประจำวัน ซึ่งภาพเหล่านี้ควรเป็นภาพเหมือนจริง มีความสวยงาม ไม่ควรเป็นภาพนามธรรม หรือภาพสีลูกกวาดที่ไม่มีความหมาย และไม่ควรมีฉากหลัง หรือส่วนประกอบของภาพที่รกรุงรัง

            พอขึ้นวัย 2 ขวบ เด็กแต่ละ คนจะเริ่มมีความชอบที่ต่างกัน ดังนั้นการเลือกหนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ควรเลือกหนังสือที่เด็กสนใจ ไม่ควรบังคับให้เด็กดูแต่หนังสือภาพที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน เพราะหนังสือภาพไม่ใช่ตำราเรียน หนังสือภาพควรมาพร้อมกับความสุขของลูก เช่น เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน หนังสือภาพสัตว์ และสิ่งของ

           นอกจากนี้ หนังสือกาพย์กลอนสำหรับเด็กที่มีภาพประกอบ ก็เหมาะสำหรับเด็กวัยนี้เช่นกัน เนื่องจากเด็กวันนี้จะมีประสาททางหูที่ดีมาก และสามารถพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษา และดนตรีได้ดี โดยเฉพาะช่วงวัย 2-4 ขวบ เด็กที่ฟังเสียง และภาษาที่มีจังหวะ บางคนถึงกับจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม และอ่านได้ถูกต้องทุกหน้า ทุกตัวอักษร เหมือนอ่านหนังสือออกดังนั้นหนังสือที่มีบทกวีดีๆ จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับพ่อแม่ในการอ่านให้ลูกฟัง

            ก้าวระดับมาถึงวัย 3 ขวบ เด็ก จะมีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็วอย่างน่าทึ่ง มีจินตนาการสร้างสรรค์ แล้วมีความอยากรู้อยากเห็นมาก สามารถติดตาม และเข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ได้แล้ว รวมทั้งเด็กวัยนี้จะชอบเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ส่วนเรื่องไหนที่ชอบมาก เด็กก็จะให้อ่านซ้ำ ไม่รู้จักเบื่อ ทั้งๆ ที่จำเรื่องได้หมดทุกตัวอักษรตั้งแต่ต้นจนจบแล้วก็ตาม ดังนั้นหากเด็กวัยนี้มีประสบการณ์ทางภาษาที่ดี (วรรณกรรม) และภาพที่ดี (ศิลปกรรม) จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างนิสัยรักการอ่านของเด็กในอนาคต ซึ่งเด็กที่ที่เคยรู้สึกปีติยินดีกับหนังสือภาพตั้งแต่ 3 ขวบจะไม่ห่างหนังสือไปตลอดชีวิต

             ลูกอายุ 4 ขวบ ความ สามารถทางภาษาของเด็กจะพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ความชอบของเด็กแต่ละคน จะแตกต่างกันอย่างชัดเจน การเลือกหนังสือจึงยากขึ้น ดังนั้นหนังสือภาพสำหรับเด็กวัยนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นนิทาน และเรื่องเล่าที่ประพันธ์ขึ้นสำหรับเด็ก เพราะเด็กวัย 4 ขวบ เป็นวัยสร้างพื้นฐานทางด้านจินตนาการสร้างสรรค์
             ดังนั้น เมื่อเด็กฟังนิทานทางหู และเข้าไปอยู่ในโลกของนิทาน ในหัวก็จะวาดภาพไปตามเรื่องราวที่ได้ยิน ซึ่งภาพเล่าเรื่องเป็นภาษาที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เมื่อลูกได้ฟัง ภาพของตัวละครในนิทานจะปรากฎขึ้นให้เด็กเห็นอยู่ในหัว แม้ว่าตรงหน้าจะไม่มีอะไรเลยก็ตาม แต่พลังของเรื่องราวที่เด็กได้ยินจะทำให้เด็กวาดภาพขึ้นเองในสมองได้ อย่างไรก็ตาม ภาพของหนังสือภาพจะช่วยให้เด็กวาดภาพเหล่านั้นในสมองได้ง่ายขึ้น

             สำหรับเด็กวัย 5 ขวบ จะชอบ หนังสือภาพนิทาน และเรื่องเล่าที่ยาวขึ้น เด็กต้องการฟังนิทานมาก แต่ไม่ควรซื้อหนังสือภาพนิทานให้มากมายจนอ่านแทบไม่ทัน บางครั้งเด็กก็อยากให้อ่านหนังสือภาพนิทานเล่มเดียวกันทุกคืน ซ้ำแล้วซ้ำเล่าติดต่อกันหลายสัปดาห์ แสดงว่า เด็กชอบหนังสือเล่มนั้นมากเป็นพิเศษ และการค้นหาหนังสือที่ลูกชอบมากเป็นพิเศษเล่มนั้น นับว่ามีความหมายต่อเด็กมาก

            พอเข้าสู่วัย 6 ขวบ พ่อแม่ สามารถอ่านหนังสือนิทานเรื่องราวให้ลูกฟังเป็นตอนๆ ติดต่อกันทุกวัน เด็กจะรู้สึกสนุก และเฝ้ารอคอยฟังตอนต่อไปในวันรุ่งขึ้น ซึ่งนิทาน หรือบทประพันธ์สำหรับเด็กวัยนี้ ควรเป็นเรื่องราวที่ชวนให้เด็กรู้สึกสนุกกับการสร้างจินตนาการ และใช้ภาษาที่เหมาะสมสำหรับการอ่านให้เด็กฟัง เมื่อเด็กอ่านหนังสือออก เด็กจะอ่านเรื่องที่เคยฟังแล้วซ้ำอีก

            เห็นได้ว่า "หนังสือภาพ" เพื่อเด็ก ไม่ใช่หนังสือภาพที่ให้ประโยชน์ต่อเด็กในทันทีทันใด แต่เป็นหนังสือที่ให้ "ความสุข+ความสนุก" แก่เด็ก ช่วยจุดประกายความสนใจที่มีต่อหนังสือให้เกิดขึ้นในใจเด็ก และหนังสือภาพไม่ใช่หนังสือที่เด็กอ่านเอง แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่ควรอ่านให้เด็กฟัง เป็นสื่อกลางสร้างความสุขในครอบครัวและสร้างพื้นฐานด้านมนุษย์สัมพันธ์ให้เด็กได้เป็ยอย่างดี


นวัตกรรม



       นวัตกรรม หมายถึง การทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ มักมีการแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการประดิษฐ์คิดค้น ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรม อันหมายถึงความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล (Mckeown, 2008) และในหลายสาขา เชื่อกันว่าการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นนวัตกรรมได้นั้น จะต้องมีความแปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัด และไม่เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นต้นว่า ในด้านศิลปะ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเพิ่มมูลค่า มูลค่าของลูกค้า หรือมูลค่าของผู้ผลิต เป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆเกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นวัตกรรมก่อให้ได้ผลิตผลเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาสำคัญของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
         นวัตกรรมเป็นหัวข้อหลักในการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และวิศวกรรม และหากพูดกันแบบภาษาชาวบ้านแล้ว คำว่า 'นวัตกรรม' มักจะหมายถึงผลลัพธ์ของกระบวนการ และในฐานะที่นวัตกรรมมักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ ปัจจัยที่นำไปสู่นวัตกรรม มักได้รับความสำคัญจากผู้ออกนโยบายว่าเป็นเรื่องวิกฤติ      
         ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในสาขาใดสาขาหนึ่ง มักจะเรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกในสาขานั้น ไม่ว่าจะเป็นในนามบุคคล หรือองค์กร

     นวัตกรรมในองค์กร
        ในบริบทขององค์กร เราอาจเชื่อมโยงนวัตกรรมเข้ากับสมรรถนะ และ การเติบโต ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิต คุณภาพ จุดยืนด้วยความสามารถในการแข่งขัน ส่วนแบ่งการตลาด ฯลฯ องค์กรทุกองค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้ อาทิเช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และรัฐบาลท้องถิ่น 

     นวัตกรรม 
        
       มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย ในยุคแรกๆ จะพูดถึงอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ เท่านั้น ต่อมา โรเจอร์ ได้เริ่มกล่าวถึง การแพร่กระจายของนวัตกรรมด้วย Diffusion of Innovation อย่างไรก็ดี คำจำกัดความที่ดูเหมือนจะครอบคลุมที่สุด คือ Invention + Commercialization หรือ ต้องมีการนำสิ่งประดิษฐ์ที่คิดว่าใหม่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งทางธุรกิจ หรือ ทางสังคม ทั้งนี้รูปแบบของนวัตกรรม ก็สามารถแบ่งออกเป็นได้ตามรูปแบบ (Product, Service, Process) หรือ อาจแบ่งตามระดับความใหม่ก็ได้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ Incremental, Modular, Architectural และ Radical Innovation Teerapon.T (2008) กล่าวถึง Innovation หรือ นวัตกรรมว่า อาจหมายถึง สิ่งประดิษฐ์ หรือ สิ่งใหม่ ที่ต้องสร้างให้เกิด Value Creation คือ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้นั่นเอง

กลอนการเมือง


ปณิธานเสื้อแดง
ต้องช่วยพ่อเหลี่ยมพ้นผิดให้ได้
จะทำชั่วอย่างไรเราไม่สน
อ้างอุดมการณ์หรูประชาชน
กลบความจริงวกวนไร้หลักการ
เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับ
แม้ชาติยับเยินพังเราก็หาญ
***โจรเถื่อนถ่อยอันธพาล
เรากล้าทำเพื่อประจานมารในตัว
สิ่งใดผิดเราจะกลับให้เป็นถูก
เราจะผูกเงื่อนไขการแบ่งขั้ว
ไม่ยอมช่วยพ่อทักษิณไม่ยอมกลัว
เราจะด่าให้ทั่วว่าเลวทราม
เราไม่สนดีชั่วคืออะไร
ความจริงอยู่ตรงไหนอย่ามาถาม
สามเกลอว่าอย่างไรเราว่าตาม
ชูตีนตบงามๆขึ้นร้องเฮ
หากท่านพ่อโจรเหลี่ยมยังมีเงิน
ให้เราใช้่อย่างเพลิดเพลินเราไม่เขว
หมดเงินเมื่อไรเราก็พร้อมเน
เนรคุณร้องลิเกเหมือนเนวิน
นี้ละคือปณิธานมารเสื้อแดง
ให้ชี้แจงความชั่วคงไม่สิ้น
ลักษณะเหมือนกับเพลงหนักแผ่นดิน
ขี้ข้าทาสโจรทักษิณผีกินเมือง

เคดิต : Oป่าเมืองลุงO
กลอนการเมือง


.......................




เราคนไทยใช่ใครใช่ศัตรู
เลือดพรั้งพรูสู้จากบรรพบุรุษ
เราคนไทยอยู่มาด้วยความสุข
บัดนี้ทุกข์ด้วยยุคไทย "ฆ่า" ไทย

เรามาร่วมสามัคคีมีในชาติ
แล้วประกาศให้โลกรู้กว้างไกล
เราคนไทยไม่มาราวีกัน
สามัคคีสมานฉันท์นั้นคือไทย

เราไมีอยู่เพียงแค่ธงไตรงค์
สามสีบ่งตรงชัดสีสดใส
เรารักชาติสีแดงเลือดจากใจ
ขาวสะอาดใสพุทธศาสน์ชาติไทย

เรานั้นมีดวงใจรวมเป็นหนึ่ง
นั้นหมายถึงองค์จักรีศรีน้ำเงินไหว
เรามีธงประกาศความเกรียงไกร
ประกาศให้โลกรู้ตูคือไทย

เรามาร่วมรวมใจทำร้ายชาติ
ใครประกาศต่อต้านสถุลใหม
เราต้องมารักชาติสมานใจ
อย่าให้ใครทำร้ายละลายไทย

เราต้องมาทนุบำรุงกรุงเสียใหม่
ให้สดใสด้วยยิ้มพิมพ์ใจใส
เราร้องเพลงชาติไทยมาจากใจ
ความเกียงไกรกลับสู้รักเมืองไทย


.....................................


แม้อยู่คนละข้าง................ฟากฝั่ง
แต่มิได้ชิงชัง....................โกรธแค้น
สองฟากฝั่งก็ยัง.................แดนถิ่น สยามนา
เลือกรักไทยบ่แข้น...........ขอดข้นเท่ากัน

การเมืองเรื่องขัดแย้ง.........ถกเถียง
ต่างก็มีสิทธิ์เสียง................จะใช้
กติกาขอเพียง....................ยึดมั่น
ประชาธิปไตยจะได้.............ไม่ไร้ความหมาย


ความวุ่นวายถ้าไม่.................สร้างกัน
ความเดือดร้อนก็พลัน...........จบสิ้น
สร้างสรรค์สมานฉันท์............สานสืบ
สยามไม่ดับดิ้น......................เฟื่องฟุ้งกาลนาน




.................




เลือดไทย ทุกคน สีแดง
แต่แฝง ให้กับ ใจเหลือง
เลือดชั่ว บางคน ล้นเมือง
สีเหลือง จะช่วย จรรโลง.....
.....เพื่อจะ ดำรงค์ คงไว้
เพื่อให้ คนไทย ไม่หลง
ชาติไทย จักอยู่ ยืนยง
จะคง เชิดชู บูชา.....
.....เพียงแค่ ทำใจ ให้มั่น
พร้อมกัน ปกปักษ์ รักษา
ถนอม พันธะ วาจา
รู้ค่า บุญคุณ แผ่นดิน.....
.....อย่าให้ หน้าไหน มาแยก
มาแตก เพื่อหวัง ทรัพย์สิน
อย่าให้ ใครเขา มากิน
แผ่นดิน ของเรา เผ่าไทย.....




.................




นี่นะหรืออ้างตนเป็นเมืองพุทธ
นี่ก็สุดสุดแล้วละเจ้านายเอ๋ย
พอเถอะครับหยุดเถอะอย่าพึ่งเลย
หยุดเปรียบเปรยเมืองพุทธคือเมืองไทย

เมื่อเป็นถึงส.ส.ผู้ทรงเกียรติ
หยุดส่อเสียดด้วยภาษาจะได้ไหม
หยุดยั่วยุอารมณ์กันตามใจ
และหยุดใช้กำลังกันเสียที

หยุดโกหกพกลมหน้าด้านๆ
หยุดโป้ปดลวงพรางแล้วถอยหนี
หยุดประพฤติตัวตนเป็นกาลี
หยุดปราณีคนผิดด้วย"ข้างกู"

หยุดดื่มเหล้าเข้าสภามาเมาแอ๋
หยุดผันแปรแบบสีข้างเข้ามาถู
หยุดเรื่องไร้สาระที่พันตู
หยุดพรรกกูพวกกูจึงผ่อนตาม

หยุดเล่นพรรคเล่นพวกให้อายเด็ก
หยุดเอาเซ็กเรื่องส่วนตัวมาไถ่ถาม
หยุดภาษาส่อเสียดลามปาม
หยุดสักถามแบบหาเรื่องในสภา

หยุดยั่วยุอารมณ์อย่างหยามเหยียด
หยุดเสนียดจังไรในภาษา
หยุดท้าตีท้าต่อในสภา
หยุดผรุสวาทาในภาที

เป็นสส..คือตัวแทนประชาราษฎร์
ควรองอายในเกียรติยศและศักดิ์ศรี
แต่ละคนคือตัวแทนประชาชี
ควรจะเป็นนอมินีของคนไทย

ขอเถอะครับเจ้านายขอได้สดับ
หากอยากปรับแก้ไขกฏหมายใหม่
ขอกฏหมายแก้เสนียดแก้จังไร
ส.ส.ไร้คุณภาพควรกำจัดอย่ารีรอ

ไม่ใช่เพียงแค่ไล่ออกไปจากห้อง
แต่ควรตรองถอนสิทธิ์เป็นส.ส.
จะสส. สว. หรือ คณะ รมต.
หนึ่งเสียงนี้ขอพวกท่านคิดพิจารณา




.............................




ฤาเข้าสู่กลียุคของประเทศ
จึงเกิดเหตุขัดแย้งแห่งสยาม
ไร้ไพรีภายนอกมาคุกคาม
แต่ว่ามีสงครามขึ้นกลางเมือง

ไทยต่อไทยต่อสู้ด้วยกลศึก
เพราะตกผลึกแตกต่างอย่างต่อเนื่อง
ฝ่ายหนึ่งรับฝ่ายหนึ่งรุกอยู่เนืองเนือง
จึงเกิดเรื่องวุ่นวายไปทั้งปฐพี

ฤาเข้าสู่กลียุคของประเทศ
ทั่วทุกเขตแคว้นไทยแห่งนี้
คนชั่วกร่างวางอำนาจมากมี
คนดีดีหลบหลีกเพราะกลัวภัย

โอ้อนาจคนไทยใครชนะ
สงสารประเทศชาติบ้างหรือไม่
เศรษฐกิจย่อยยับอับปางลงไป
ฤาจะให้สิ้นชาติสิ้นแผ่นดิน ฯ




.........................




เมื่อเราอึดอัด ............อย่ามัดตัวเองเอาไว้
ท้องฟ้ากว้างใหญ่............จงไปให้ถึงดั่งฝัน
เมื่อคิดต่างสี............อย่ามัวห้ำหั่นจาบัลย์
คนไทยทั้งนั้น ............เลือดสีเดียวกันทั้งเพ
เมื่อมีจุดยืน ............อย่ากลืนแต่สิ่งจำเจ
เที่ยวร้องป่าวเห่............เกเรไม่รู้จักพอ
ประเทศเสียหาย............วอดวายใครเล่าใครก่อ
เศรษฐกิจชะลอ............ใครหนอจะช่วยกู้คืน
เมื่อคิดแตกต่าง............อย่าอ้างว่าเป็นสีอื่น
เมื่อเราถูกกลืน............อย่าฝืนทำเพื่อชาติไทย
ปากป้องเพื่อชาติ............อนาถสร้างภาพกันใหญ่
ประชาธิปไตย ............เต็มใบรู้จริงหรือยัง
เมื่อไม่รักชาติ ............อย่าวาดภาพไทยโอหัง
รอยด่างเกระกรัง............ประทังพวกพ้องตัวเอง
เรียกรัฐไทยใหม่............คิดได้อย่างไรเส็งเครง
พวกคิดข่มเหง............ไม่ย่ำเกรงบรรพบุรุษไทย




............................




คงเป็นเหมือนมรสุมมาคลุมบ้าน
สุขแตกซ่านสามัคคีก็หนีหาย
อย่าทดท้อสิ้นหวังหรือเดียวดาย
อีกไม่นานฝุ่นคงคลายจากบ้านเมือง

เมื่อเพรงกรรมนำสู่หมู่คนไทย
ต้องทำใจสร้างกุศลให้ฟู่เฟื่อง
ส่งกระแสความสุขสูบ้านเมือง
หากปล่อยใจโกรธเคืองนั้นไม่ดี

มาสะเดาะเคราะห์กรรมให้คนไทย
ด้วยการมอบน้ำใจสร้างสุขศรี
ดุจการราดรดน้ำดับอัคคี
เริ่มที่ใจเรานี้ก่อนผู้ใด

อย่าหวังให้ใครเขาเหมือนเราหมด
มันผิดกฎความจริงฝืนเงื่อนไข
ความแตกต่างย่อมมีในคนไทย
ต้องทำใจยอมรับกับความจริง




...........................




ความชั่วคนอื่นเห็นใหญ่เท่าภูเขา
ชั่วของเรายังเล็ก เมื่อเทียบนั้น
ป้องกันตัว กลัวโดนกระสุนรัวรัน
เลยเผามัน รถเมล์ แหม! เก๋จัง

เคยได้ฟัง หนึ่งคนที่ไปเผา
บอกว่าเราไม่ผิด แค่เผลอพลั้ง
อยากถามหน่อย ใครลำบากที่ทำพัง
ยึดรถถัง เผารถเม ไม่เห็นรึไง

หูมันหนวก ตามันบอดแล้วหรือนั่น
บอกต้องเสียสละกัน เพื่อชาติไซร้
ที่ทำนั่น บอบช้ำที่สุดคือใคร
ชาติของไทย ไทยเอง จ้องทำลาย

การวาดภาพ (Drawing)



   การวาดภาพ (Drawing) หลักการวาดเขียนเบื้องต้น
          ผู้ที่เริ่มฝึกหัดวาดเขียนใหม่ๆ มักมีปัญหาว่าจะเขียนอะไรก่อนและเขียนอย่างไร ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เป็นแบบในการวาดเขียนนั้นมีหลายประเภทและมีส่วนของราย ละเอียดต่างๆมากมาย จนไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร สิ่งที่มองเห็นไม่ว่าจะเป็นรูปทรง แสง เงา และพื้นผิว ชนิดต่างๆ ก่อให้เกิดความซับซ้อนจนผู้ที่ฝึกวาดเขียน มองเห็นว่ายากเกินไปที่จะจับลักษณะสำคัญได้
         เปรียบเสมือนการสร้างบ้าน เราไม่สามารถเริ่มต้นด้วยการมุงหลังคา ติดประตูหน้าต่างหรือเดินสายไฟก่อน แต่จะเริ่มต้นด้วยการตั้งเสาและคาน ซึ่งเป็นโครง สร้างทั้งหมดของบ้านเสียก่อน เมื่อโครงสร้างถูกต้อง มั่นคงแข็งแรงดีแล้ว จึงไล่ลำดับไปสู่การมุงหลังคา ทำฝาผนัง ทำพื้น ตกแต่งภายใน กับการเขียนภาพก็เช่นเดียวกัน ผู้เขียนภาพจะต้องพิจารณาหุ่นต้นแบบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน แล้วจะค้นพบและเข้าใจโครงสร้างของหุ่นต้นแบบจากนั้นก็จะกลาย เป็นเรื่อง ง่ายเพราะลำดับวิธีการที่ถูกต้องนั่นเอง

   วาดเส้น (Drawing)

        การวาดเส้นมีวิธีการและขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากโดยใช้เส้นต่างๆ แสดงถึงลักษณะการเคลื่อนไหวของเส้น น้ำหนักของเส้น และความมั่นใจในการวาดเส้น สิ่งที่ี่ผู้ฝึกควรฝึกด้วยตัวเองในขั้นแรกให้เขียนเส้นตรง เส้นตั้ง และเส้นเอียง เส้นเฉียงซ้ำๆ กัน ฝึกฝนจนเกิดความชำนาญในการใช้เส้น-ผสานกับมือและสายตา โดยให้สังเกตจากแสงเงาเป็นตัวกำหนดน้ำหนัก

   เคล็ดไม่ลับ

    “ การเลือกมุมที่จะเขียนก็นับว่าเป็นส่วนส่งเสริมกำลังใจให้มุ่งมั่นในการวาดเขียนได้อย่างดี หากเลือกมุมที่เขียนยาก สังเกตน้ำหนัก แสง เงา หรือรูปทรง ไม่ชัดเจน ถ่ายทอดด้วยการวาดเขียนลำบาก อาจทำให้กำลังใจท้อถอยได้ง่ายในทางตรงกันข้ามถ้าเลือกมุมที่สังเกต เห็นความงามของหุ่นต้นแบบทุกด้าน อย่างชัดเจนและสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดั่งใจ ตามระดับฝีมือของผู้เขียนก็จะทำให้มีกำลังใจมีความอยากเขียนวาดภาพได้อย่างต่อเนื่องและสนุกกับการวาด ”
   **ข้อสังเกต**
   การเลือกมุมมองเพื่อวาดเขียนอย่างง่ายๆ โดยทั่วไปคือ ควรเลือกมุมที่สามารถมองเห็นแสงมองเห็น
น้ำหนักอ่อน แก่ ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนบนหุ่นต้นแบบได้ชัดเจนทุกจุด

    ลักษณะของเส้น (CHARACTERISTICS OF LINE)

          ลักษณะของเส้นก็คือคุณค่าทางกายภาพของเส้นนั่นเอง ขนาดและทิศทางของเส้นจะมีลักษณะของความ
หมาย เช่นเดียวกับลักษณะนั้นๆ เช่น
       ลักษณะที่ 1 เส้นดิ่ง และ เส้นตั้ง แสดงถึงความมั่นคงแข็งแรง,สง่า สงบ,คงอยู่ตลอดไป,มั่นคงถาวร,ไม่เคลื่อนไหว นิยมใช้สำหรับการเขียนภาพอาคาร อย่างเช่น สร้างรูปแบบของธนาคารที่มีเส้นตรงๆ ให้ความรู้สึกถึงความมั่นคงแข็งแรง ไม่ล้มง่าย หมายถึงความรู้สึกของผู้ที่เข้าไปฝากธนาคารด้วย อย่างนี้เป็นต้น
       ลักษณะที่ 2 เส้นขนาน และ เส้นนอน แสดงถึงความรู้สึกไม่สิ้นสุดไปได้เรื่อยๆ ความสงบ,ความราบรื่น ความเรียบง่าย
ลักษณะที่ 3 เส้นเฉียง แสดงถึงความรู้สึกไม่มั่นคง,อันตราย,กำลังจะล้มแล้ว,โอนเอน,โอนอ่อนผ่อนตาม
ความไม่สมดุล
       ลักษณะที่ 4 เส้นหยัก โดยใช้เส้นเฉียงมาต่อกันในลักษณะคล้ายๆ กับฟันปลา แสดงถึงความแหลมคม บาดเจ็บ,อันตราย,การทำลาย,การเคลื่อนไหวที่มีพลังอย่างต่อเนื่อง การขึ้นๆ ลงๆ ของดัชนีอย่างตลาดหุ้น ซึ่งมีเป็นเส้นพารากราฟขึ้นมา
       ลักษณะที่ 5 เส้นโค้ง แสดงถึงความอ่อนน้อม,นุ่มนวล
       ลักษณะที่ 6 เส้นขยุกขยิก แสดงถึงความสับสน,ยุ่งเหยิง,วุ่นวาย,ตื่นเต้น
นอกจากลักษณะของเส้นแล้วยังมีทิศทางของเส้น ได้แก่แนวราบ แนวเฉียง แนวลึก แนวดิ่ง จากทิศทางก็เป็นขนาด ขนาดของเส้นนั้นไม่มีความกว้างมีแต่ความหนา ความบาง เส้นใหญ่หรือเส้นเล็ก ความหนาของเส้นจะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับความยาวเป็นหลัก เพราะเส้นที่สั้นมากจะมีความหนาดูคล้ายกับเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งจะหมดคุณสมบัติของเส้นจะกลายเป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า

     หน้าที่ของเส้น เส้นมีหน้าที่ที่พอจะจำกัดความได้ดังนี้

       1.ใช้เป็นสำหรับการแบ่งพื้นที่ หรือที่ว่างให้แยกออกจากกัน
       2.ใช้เป็นส่วนจำกัดพื้นที่ของรูปทรง
       3.ใช้สร้างลักษณะต่างๆ ที่ศิลปินต้องการสร้างขึ้นมา เช่น สร้างเส้นตรง เส้นโค้งคด เส้นหยักฟันปลาหรือเส้นวงเป็นก้นหอย
        4.ใช้สร้างความเป็น 2 มิติ และ 3 มิติให้แก่รูปทรง ให้เป็นรูประยะตื้น ลึก หนา บาง
        5.ใช้แสดงแกนของสิ่งทั้งหลาย
        6.ใช้สร้างให้เกิดทิศทางและการเคลื่อนไหว
        7.ใช้สร้างให้เกิดแสงและเงา ด้วยการประสานเส้นโดยเส้นที่ถี่ และเส้นที่ห่าง
        8.ใช้พัฒนาเทคนิคในการใช้เส้นของตัวเองที่ถ่ายทอดเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกที่อยากจะถ่ายทอดออกมาให้ได้ตรงที่สุด

      ค่าของแสงและเงา แบ่งได้เป็น 6 ค่าระดับ

        1.แสงสว่างที่สุด (HIGH LIGHT) เป็นส่วนของวัตถุที่กระทบแสงโดยตรง จึงจะทำให้บริเวณนั้นสว่างมากที่สุด
        2.แสงสว่าง (LIGHT) เป็นส่วนของวัตถุที่ไม่ได้ปะทะกับแสงที่ส่องมาโดยตรง แต่อยู่ในอิทธิพลของแสงนั้นด้วย
        3.เงา (SHADOW) อยู่ในส่วนรับอิทธิพลของแสงน้อยมาก
        4.เงามืด (CORE OF SHADOW) อยู่ในส่วนที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงเลย
        5.แสงสะท้อน (REFLECTED LIGHT) บริเวณของวัตถุที่ไม่ได้รับแสงโดยตรง แต่เป็นการสะท้อนของแสง จากวัตถุใกล้เคียง
        6.เงาตกทอด (CAST SHADOW) บริเวณที่เงาของวัตถุนั้นตกทอดไปตามพื้นหรือตามวัตถุอื่นที่รองรับน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน

      แสง – เงา
      แสง-เงา = ความสว่างและความมืด มีผลต่อความรู้สึกและการรับรู้อิทธิพลของแสง เป็นสิ่งสำคัญในการที่ต้องศึกษา ทั้งในด้านความงามในธรรมชาติบนวัตถุ สามารถทำให้เกิดอารมณ์และความรู้สึก


   ลำดับขั้นตอนในการร่างภาพ

       1. สังเกตลักษณะของหุ่น
       2. ร่างภาพโครงสร้างสัดส่วนให้เหมาะสมกับหน้ากระดาษ
          วิธีการร่างภาพโครงสร้าง-สัดส่วนมีวิธีการดังนี้
           2.1 ให้ลากเส้นตรงในแนวดิ่งหนึ่งเส้น
           2.2 จากนั้นกำหนดส่วนสูงที่สุดของหุ่นและส่วนที่ต่ำที่สุดของหุ่นโดยการลากเส้นในแนวนอนให้ตั้งฉากกับเส้นดิ่ง
           2.3 กำหนดความกว้างของหุ่นโดยประมาณ แล้วกำหนดสัดส่วนให้เท่ากัน
           2.4 เมื่อกำหนดโครงสร้างรวมของหุ่นแล้ว จากนั้นให้เขียนเส้นโค้ง เส้นเว้า เพื่อให้โครงสร้างใกล้เคียงหุ่นมากที่สุด
      3. ลงน้ำหนักรวมๆของหุ่น
      4 .แรน้ำหนักพร้อมทั้งเก็บรายละเอียด

      ภาพคนเหมือน ( Portrait ) และหุ่นปูน

        การวาดภาพคนเหมือนนั้นคือการวาดตั้งแต่บริเวณส่วนศีรษะจนถึงเอวเป็นการที่ผู้เริ่มต้นควรฝึกวาดให้เกิดความชำนาญเพราะใบหน้าเป็นส่วนที่มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ เช่น ตา หู จมูก ปาก ดังนั้นผู้เริ่มต้นควรฝึกฝนให้เข้าใจการวาดภาพคนเหมือนนั้นแบ่งสัดส่วนออกเป็นทั้งหมด 3ส่วนครึ่ง
       ส่วนที่ 1 จากปลายคางถึงปลายจมูก
       ส่วนที่ 2 จากปลายจมูกถึงคิ้ว
       ส่วนที่ 3 จากคิ้วถึงโคนผม
       ส่วนที่ 3 1/2จากโคนผมจนถึงส่วนบนของศีรษะ
       ก่อนจะฝึกวาดภาพคนเหมือนนั้นควรฝึกวาดหุ่นปูนเสียก่อนซึ่งสามารถใช้เป็น
พื้นฐานในการวาดภาพคนเหมือน เช่น หุ่นเหลี่ยม หุ่นวีนัส หุ่นเดวิดฯลฯ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจในการวาดภาพคนเหมือนได้ง่ายยิ่งขึ้นและเพื่อพัฒนาไปสู่การวาดภาพคนเหมือนเต็มตัว( Figure )
         การวาดภาพคนเหมือนควรแบ่งสัดส่วนให้ถูกต้องชัดเจนเพราะสัดส่วนบนใบหน้าของคนนั้น หากเราเขียนด้วยความไม่เข้าใจถึงจะวาดออกมาสวยแต่ สัดส่วน ไม่ถูกต้องก็จะทำให้ภาพนั้นดูผิดเพี้ยนไป ดังนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องสัดส่วนเป็นสำคัญแต่ถ้าฝึกฝนจนชำนาญผู้วาดไม่ต้องกำหนดสัดส่วนตามกฏเกณฑ์ก็ได้อาจจะ กำหนดสัดส่วนขึ้นมาเองโดยที่ไม่ต้องลากเส้นแบ่งสัดส่วนแต่ใช้การกะหาระยะด้วยสายตาเอา ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและความชำนาญของแต่ละคน


     ภาพคนเต็มตัว ( Figure )
           การวาดภาพภาพคนเต็มตัวนั้นคือการวาดคนตั้งแต่ศีรษะจนถึงปลายเท้า เพื่อศึกษาระบบกล้ามเนื้อ โครงกระดูก สัดส่วน สรีระร่างกายและท่าทางการเคลื่อนไหว
      การวาดคนเต็มตัว ( Figure ) มีการแบ่งสัดส่วนออกเป็นทั้งหมดของร่างกายโดยมาตรฐาน 7ส่วนครึ่ง
          ส่วนที่ 1 จากศีรษะบนสุด จนถึง ปลายคาง
          ส่วนที่ 2 จากปลายคาง จนถึง กลางหน้าอก
          ส่วนที่ 3 จากกลางหน้าอก จนถึง สะดือ
          ส่วนที่ 4 จากสะดือ จนถึง โคนขา
          ส่วนที่ 5 จากโคนขา จนถึง กึ่งกลางขาอ่อน
          ส่วนที่ 6 จากกึ่งกลางขาอ่อน จนถึง น่อง
          ส่วนที่ 7 จากน่อง จนถึง ข้อเท้า
          ส่วนที่ 7 1/2 จากข้อเท้า จนถึง ส้นเท้า

       การที่จะวาดภาพคนเต็มตัวได้ดีนั้นควรจะต้องศึกษากายวิภาค (Anatomy) ควบคู่ไปด้วย การศึกษา
วิชากายวิภาคจะเป็นการเรียนรู้เรื่องของสัดส่วนเริ่มจากสัดส่วนของกระโหลก กระดูก โครงสร้างของร่างกายทั้งหมดแล้วค่อยๆศึกษาเรื่องกล้ามเนื้อที่ผูกยึดติดกับกระดูกนั้นๆหลังจากนั้นก็วาดภาพที่มีผิวหนังห่อหุ้มอยู่เป็นขั้นตอน การเรียนรู้ของกายวิภาคซึ่งจะต้องเรียนรู้ทั้งหมดตั้งแต่ ชาย หญิง วัยรุ่น เด็ก และคนชรา หากเราจะเขียนภาพคนเต็มตัว (Figure) ให้ชำนาญถูกต้อง ให้เริ่มโดยการศึกษาเรื่องของโครงกระดูกทั้งร่างกายพยายามจำรายละเอียดลักษณะของกระดูกแต่ละส่วนให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะศึกษาเรื่องของกล้ามเนื้อที่มายึดติดกับกระดูก



การเล่านิทาน




การเล่านิทาน

      การเล่านิทานเป็นกิจกรรมบันเทิงใจ ที่มนุษย์ได้กระทำมานานก่อนการสร้างมหรสพประเภทอื่น การเล่านิทานเล่าได้ทุกที่และทุกโอกาส ไม่ต้องมีพิธีรีตองเเต่อย่างใด ฉะนั้นการเล่านิทานจึงนิยมกันเเพร่หลายในทุกชาติทุกภาษา ทุกชนชั้นและทุกวัย

จุดประสงค์ของการเล่านิทาน

๑. เพื่อความบันเทิงใจในยามว่างจากการประกอบกิจการงาน

๒. เพื่อเป็นสื่อในการสอนจริยธรรม

การเล่านิทาน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ดังนี้

๑. การเล่านิทานในครอบครัว เป็นการเล่านิทานสู่กันฟังเมื่อมีเวลาว่าง ไม่จำเป็นต้องมีผู้ฟังจำนวนมาก โดยอาจจะมีผู้ฟังเพียงคนเดียวหรือสองคน เวลาเเละสถานที่ในการเล่านิทานไม่จำกัด เนื้อเรื่องของนิทานขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่อไปนี้
    ๑.๑ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่ากับผู้ฟัง ถ้าผู้ใหญ่เป็นผู้เล่าให้ลูกหลานฟัง จะเล่านิทานคติธรรม หากอยู่ในวัยเดียวกัน เรื่องที่เล่ามักเป็นนิทานมุกตลก
    ๑.๒ ผู้เล่าจะเป็นผู้กำหนดเนื้อเรื่องนิทาน ถ้าผู้เล่าสนใจนิทานมุขตลกใดเป็นพิเศษ ก็มักจะจดจำเนื้อเรื่องนิทานประเภทนั้นได้ดี ผู้เล่าแต่ละเพศเเต่ละวัยจะสนใจนิทานเเตกต่างกัน เช่น ถ้าผู้เล่าเป็นเด็กหรือผู้ชาย มักจะจดจำนิทานประเภทมุขตลก
    ๑.๓ เวลาเเละโอกาส ถ้าหากผู้เล่ามีเวลาว่างก็จะเล่านิทานยาว ๆ หลายตอนจบเเละมีเวลาทบทวนนิทาน
    ๑.๔ ผู้ฟัง มีความสำคัญต่อนิทานที่นำมาเล่า เพราะนิทานประเภทต่าง ๆ ที่จะนำมาเล่าต้องขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้ฟัง

การเล่านิทานในที่ชุมชน

     การเล่านิทานในที่ชุมชนค่อนข้างจะเป็นพิธีการ ปัจจุบันไม่ค่อยนิยม เพราะในโอกาสที่ชาวบ้านมาร่วมกิจกรรมงานบุญกุศลทุกวันนี้ เจ้าภาพมีเครื่องบันเทิงใจอย่างอื่นมาทดเเทน เช่น วงปี่พาทย์ เครื่องเล่น เเถบบันทึกเสียง เเผ่นเสียง เป็นต้น การเล่านิทานในท้องถิ่นต่าง ๆ สมัยก่อน มีดังนี้
       ๑. ภาคกลาง ในงานกุศล เช่น งานบวชนาค งานทอดกฐิน งานมงคลสมรส ผู้เล่ามักเป็นนักขับลำ (ลำ หมายถึง เพลง บทกลอน) เมื่อถึงตอนสำคัญจะเเทรกทำนองขับลำ
       ๒. ภาคเหนือ ในงานศพ เจ้าภาพจะหาผู้ที่เล่านิทานเก่ง ๆ ในหมู่บ้านมาเล่าเนิทาน ถ้าเป็นร้อยแก้ว เรียกว่า "เล่าเจี้ย" ถ้าเป็นการขับลำนิทานสำนวนร้อยกรองประกอบดนตรี เรียก "เล่าค่าว" หรือ "ค่าวซอ"
       ๓. ภาคอีสาน ในงานศพ (งานบุญเฮือนดี) จะมีการเล่านิทานพื้นบ้านเช่นกัน ต่อมาได้นำหนังสือวรรณกรรมพื้นบ้านมาอ่านเป็นทำนอง  เรียกว่า "ลำ" มีหลานทำนอง เช่น ลำพื้น ลำเรื่อง ลำเต้ย ลำเพลิน เป็นต้น
       ๔. ภาคใต้ มีการเล่านิทานพื้นบ้านเช่นเดียวกับภาคอื่นๆ มีวรรณกรรมประเภทกลอนสวด เเต่งด่วยคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่กาพย์ยานี กาพย์ฉบัง กาพย์สุรางค์นางค์ มาอ่านเป็ฯทำนองเสนาะในที่ประชุม เรียกว่า "การสวดหนังสือ" หรือ "สวดด้าน"

รางวัลพานแว่นฟ้า


รางวัลพานแว่นฟ้า เป็นรางวัลการประกวดผลงานเขียน วรรณกรรมการเมือง จัดโดยสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและรัฐสภาไทย  เพื่อสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงออกทางการเมืองและสืบสานวรรณกรรมการเมืองให้มีส่วนปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2545 ในวาระครบรอบ 70 ปี ของรัฐสภา โดยได้จัดประกวดวรรณกรรมเรื่องสั้นการเมืองขึ้นเป็นครั้งแรก และในปี พ.ศ. 2546 ได้เพิ่มประเภทบทกวีการเมืองเข้าประกวดด้วย รวมทั้งแบ่งเป็นระดับนักเรียนและระดับประชาชน จนถึงปี พ.ศ. 2548 ได้ยกเลิกการแบ่งระดับไป การประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าได้จัดต่อเนื่องกันมาทุกปี นับเป็นรางวัลทางวรรณกรรมที่ทรงอิทธิพลอีกรางวัลหนึ่งในยุคนี้
รางวัลพานแว่นฟ้า รับผลงานส่งเข้าประกวดทุกๆ ต้นปี โดยจะรับผลงานประเภทต่างๆ และประกาศผลการประกวดในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน หรือสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม อันเป็นวาระของวันรัฐธรรมนูญ(10 ธันวาคม)
จำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวด
- พ.ศ. 2545 - ครั้งที่ 1 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 86 เรื่อง
- พ.ศ. 2546 - ครั้งที่ 2 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 372 เรื่อง
- พ.ศ. 2547 - ครั้งที่ 3 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 501 เรื่อง
- พ.ศ. 2548 - ครั้งที่ 4 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 580 เรื่อง
- พ.ศ. 2549 - ครั้งที่ 5 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 408 เรื่อง
- พ.ศ. 2550 - ครั้งที่ 6 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 651 เรื่อง
- พ.ศ. 2551 - ครั้งที่ 7 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 702 เรื่อง
- พ.ศ. 2552 - ครั้งที่ 8 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 877 เรื่อง
- พ.ศ. 2553 - ครั้งที่ 9 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 611 เรื่อง
- พ.ศ. 2554 - ครั้งที่ 10 มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งหมด 729 เรื่อง  
รางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ
         ในปี พ.ศ. 2554 อันเป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษของรางวัลพานแว่นฟ้า คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ได้พิจาณาเลือกสรรวรรณกรรมการเมืองรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ 10 รางวัล ได้แก่ ขอบฟ้าขลิบทอง ของ อุชเชนี หรือ ประคิณ ชุมสาย ณ อยุธยา คุณภาพชีวิต ปฏิทินแห่งความหวังจากครรภ์ถึงเชิงตะกอน ของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แด่ วัยดรุณของชีวิต ของ ทวีปวร หรือ ทวีป วรดิลกทานตะวันดอกหนึ่ง ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ธรรมาธิปไตย : หลักปฏิบัติศาสนาและศีลธรรม (ตัดตอนจาก คู่มือมนุษย์ ฉบับปฏิบัติธรรม) ของ พุทธทาสภิกขุ หรือ พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปัญฺโญ) นักกานเมือง ของ ลาว คำหอม หรือ คำสิงห์ ศรีนอก เปิบข้าว (ตัดตอนจาก วิญญาณหนังสือพิมพ์ คำเตือนจากเพื่อนเก่าอีกครั้ง) ของ จิตร ภูมิศักดิ์ หมาตำรวจ ของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อาชญากรผู้ปล่อยนกพิราบ ของ ดอกประทุม หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ และเรื่อง อีศาน ของ นายผี หรือ อัศนี พลจันทร โดยการมอบรางวัลดังกล่าว เป็นการมอบให้กับผลงานของนักเขียนไทยในอดีตที่มีเนื้อหาสาระแสดงทัศนะหรือสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยในสังคมไทยในอดีตและปัจจุบันได้อย่างลุ่มลึก หลากหลาย งดงาม สมควรเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่างเพื่อปลุกเร้าหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้รักประชาธิปไตยในสังคมไทย
ปัญหาการตัดสิน
การตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ. 2548 เกิดปัญหาเนื่องจากนางลลิตา ฤกษ์สำราญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย ในฐานะประธานจัดประกวด มีความเห็นส่วนตัวว่าวรรณกรรมที่ได้รับการตัดสินให้รับรางวัล ทั้งประเภทเรื่องสั้น ที่มี นายปองพล อดิเรกสาร และบทกวี ที่มี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นประธาน มีเนื้อหาของตัวละครในเรื่อง ตีแผ่พฤติกรรมคอรัปชั่นของรัฐมนตรี (เรื่องสมมุติ) และพลิกมติให้เรื่องสั้น 2 เรื่องที่ควรจะได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศให้ตกไป และไม่ได้รางวัลใดๆ เรื่องสั้น 2 เรื่องดังกล่าวคือ พญาอินทรี ของ จรัญ ยั่งยืน และ กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด ของ 'อาลี โต๊ะอิลชา' หรือ ศิริวร แก้วกาญจน์ โดยให้เหตุผลเรื่องสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น การตัดสินดังกล่าวได้รับการต่อต้านจากคณะกรรมการประกวด รวมทั้งเสียงต่อต้านจากบุคคลในวงการวรรณกรรม นับเป็นเรื่องประหลาดที่คณะกรรมการไม่รับรองผลการตัดสินของกรรมการเสียงข้างมาก ทั้งที่การประกวดวรรณกรรมการเมือง เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย แต่ตัวประธานไม่เป็นประชาธิปไตย และนำการเมืองไปแทรกแซงวงการวรรณกรรม รอยด่างครั้งนี้ ทำให้รางวัลพานแว่นฟ้าซบเซาไปในระยะหนึ่ง
เมื่อปี พ.ศ. 2549 ศิริวร แก้วกาญจน์ ส่งเรื่องสั้น 'กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด' และบทกวี 'การปะทะของแสงและเงา' เข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้า ปรากฏว่าเกิดกรณีตัดสิทธิผลงานด้วยเหตุผลทางการเมือง ซึ่งต่อมา ศิริวร ได้ขยาย 'กรณีฆาตกรรมโต๊ะอิหม่ามสะตอปา การ์เด' ให้เป็นนวนิยาย ปรากฏว่าด้วยความโดดเด่นของเนื้อหา และกลวิธีการเล่า ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2549 ปีต่อมา เขาส่งบทกวีสองบท ได้แก่ 'จดหมายของแม่' และ 'เพลงละเมอของเด็กชายและเพลงกล่อมของแม่' เข้าประกวดรางวัลพานแว่นฟ้าอีกครั้ง ในนามของ 'ปัณณ์ เลิศธนกุล' และ 'อันวาร์ หะซัน' ตามลำดับ ปรากฏว่าบทกวีทั้งสองได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศ ตามลำดับ โดยคณะกรรมการไม่รู้ว่า บทกวีสองชิ้นนี้เป็นผลงานของ ศิริวร เพราะเขาใช้นามปากกาที่ต่างกันในการส่งเข้าประกวด การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกติกาของการประกวด เขาจึงไม่แสดงตัวในวันรับรางวัล ความลับดังกล่าวถูกปิดเงียบ จนเมื่อปี พ.ศ. 2551 ศิริวร ได้พิมพ์รวมบทกวีชุดใหม่ชื่อ 'ฉันอยากร้องเพลงสักเพลง' โดยมีบทกวีที่ได้รับรางวัลทั้งสองชิ้นรวมอยู่ด้วย พร้อมเขียนหมายเหตุพาดพิงถึงรางวัลพานแว่นฟ้าไว้ด้วย ศิริวร จงใจพิสูจน์บางอย่าง และการจงใจนี้นำไปสู่การฝ่าฝืนกฎ แต่น่าแปลกที่กลับไม่เกิดปฏิกิริยาใดๆ ในแวดวงวรรณกรรมเลย นับเป็นรอยด่างอีกครั้งที่กรรมการตัดสินรางวัลถูกท้าทาย
เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2552 นายวัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนรางวัลศรีบูรพา ได้แถลงข่าวเรียกร้องเสรีภาพในการเขียนและวิพากษ์วิจารณ์ให้กับกลุ่มนักเขียนศิลปินประชาธิปไตย โดยขอให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยอมรับความในคิดเห็นที่แตกต่าง สร้างความเสมอภาคและเสรีภาพในการพูดความจริง และต่อมาได้ประกาศลาออกจากการเป็นกรรมการตัดสินรางวัลพานแว่นฟ้า นับเป็นรอยด่างอีกครั้งที่กรรมการรางวัลพานแว่นฟ้ายังอยู่ภายใต้วังวนการเมืองเลือกข้าง
จะสังเกตได้ว่าเมื่อเกิดกรณีดังกล่าว ปีถัดไปมักจะมียอดการส่งผลงานเข้าประกวดลดลง แต่ด้วยเป็นเวทีที่สำคัญ หากมีการตัดสินอย่างยุติธรรม จำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดมักจะเพิ่มขึ้นทุกปี



องค์ประกอบของระบบนิเวศ (ecosystem componet)

          ระบบนิเวศ  (ecosystem)  หมายถึง  ระบบที่มีความสัมพันธ์กันของกลุ่มสิ่งมีชีวิต พร้อมทั้งสภาพแวดล้อม ที่ไม่มีชีวิตด้วย เช่น  อุณหภูมิ  แสง  ความชื้น ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง  ซึ่งความสัมพันธ์นั้นหมายถึง  การอาศัยอยู่ร่วมกัน ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตในบริเวณหนึ่งนั่นเอง ดังนั้นในบริเวณใดๆที่มีสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตมีความสัมพันธ์กันเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนสารและถ่ายทอดพลังงานระหว่างกัน เรียกว่า ระบบนิเวศ  (ecosystem)
           องค์ประกอบของระบบนิเวศ  (ecosystem  componet)  
   องค์ประกอบระบบนิเวศสามารถแบ่งออกเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ  ได้ดังนี้
        1) ส่วนประกอบที่ไม่มีชีวิต (abiotic  component) เป็นส่วนประกอบในระบบนิเวศที่ไม่มีชีวิต
เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศขึ้นมา โดยมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต 
ถ้าขาดองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิตนี้สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศก็ไม่สามารถอยู่ได้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
     -  อนินทรีย์สาร  เป็นสารที่ได้จากธรรมชาติและเป็นส่วนประกอบที่เป็นแร่ธาตุพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเพื่อสร้างเนื้อเยื่อ
และอวัยวะต่างๆ  เช่น  ธาตุคาร์บอน  ไฮโดรเจน น้ำ ออกซิเจน  ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ ่อยู่ในรูปของสารละลาย  สิ่งมีชีวิตสามารถนำไปใช้ได้ทันที
     -  อินทรีย์สาร  เป็นสารที่ได้จากสิ่งมีชีวิต  เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ฮิวมัส เป็นต้น เกิดจากการเน่าเปื่อยผุพัง
ของสิ่งมีชีวิต โดยการย่อยสลายของจุลินทรีย์ ทำให้เป็นธาตุอาหารของพืชอีกครั้ง
     -  สภาพแวดล้อมทางกายภาพ  เช่น แสงสว่าง อุณหภูมิ ความชื้น ความเป็นกรด-เบส ความเค็มเป็นต้น
สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นแตกต่างกันออกไป
       2) ส่วนประกอบที่มีชีวิต  (biotic  component)  ได้แก่  พืช  สัตว์  รวมทั้งสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก  และสิ่งมีชีวิต
เซลล์เดียว  ซึ่งช่วยทำให้ระบบนิเวศทำงานได้อย่างเป็นปกติ  โดยแบ่งออกตามหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต  ได้เป็น 3  ประเภท  คือ
     -  ผู้ผลิต (producer)  คือ สิ่งมีชีวิตที่สามารถสร้างอาหารเองได้โดยการสังเคราะห์ด้วยแสง  ได้แก่ พืชสีเขียว 
แพลงก์ตอนพืช  และแบคทีเรียบางชนิด ผู้ผลิตมีความสำคัญมากเพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมต่อระหว่างสิ่งไม่มีชีวิต
และสิ่งที่มีชีวิตอื่นๆในระบบนิเวศ
     -  ผู้บริโภค (consumer)  คือ สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารขึ้นเองได้  แต่ได้รับธาตุอาหารจากการกินสิ่งมีชีวิต อื่นอีกทอดหนึ่ง  พลังงานและแร่ธาตุจากอาหารที่สิ่งมีชีวิตกิน จะถูกถ่ายทอดสู่ผู้บริโภค  ซึ่งแบ่งตามลำดับของการกินอาหารได้  ดังนี้
     -  ผู้บริโภคปฐมภูมิ (primary consumers)  เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินพืชเป็นอาหาร (herbivore) โดยตรง 
เช่น  ปะการัง เม่นทะเล กวาง กระต่าย วัว เป็นต้น
     - ผู้บริโภคทุติยภูม (secondary consumers)  เป็นสิ่งมีชีวิตพวกสัตว์กินเนื้อ (carnivore)  หมายถึง
สัตว์  ที่กินสัตว์กินพืช  หรือผู้บริโภคปฐมภูมิเป็นอาหาร  เช่น  ปลาไหลมอเรย์  ปลาสาก  นก  งู  หมาป่า  เป็นต้น
     -  ผู้บริโภคตติยภูมิ (tertiary consumers)  เป็นสิ่งมีชีวิตที่กินทั้งสัตว์กินพืชและสัตว์กินสัตว์หรือพวกที่กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร(omnivore)  เช่น  ปลาฉลาม
เต่า  เสือ  คน  เป็นต้น
    - ผู้ย่อยสลาย (decomposer)  คือ  สิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้  แต่อาศัยอาหารจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น โดยการสร้างน้ำย่อย  ออกมาย่อยสลายแร่ธาตุต่างๆในส่วนประกอบของซากสิ่งมีชีวิตให้เป็นสารโมเลกุลเล็กๆ แล้วจึงดูดซึมอาหารผ่านเยื่อหุ้มเซลล์เข้าไปใช้  เช่น  แบคทีเรีย  เห็ด  รา  เป็นต้น
     ระบบนิเวศ  มีคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการหนึ่ง  คือ  มีกลไกในการปรับสภาวะตนเองเพื่อให้อยู่ในสภาวะสมดุล  โดยการที่ส่วนประกอบของระบบนิเวศทำให้เกิดการหมุนเวียนและถ่ายทอดสารอาหารผ่านสิ่งมีชีวิตซึ่งได้แก่  ผู้ผลิต  ผู้บริโภค  และผู้ย่อยสลายนั่นเอง  ถ้าระบบนิเวศนั้นได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ  และไม่มีอุปสรรคขัดขวางวัฏจักรของธาตุอาหาร  ก็จะทำให้เกิด ภาวะสมดุล  (equilibrium)  ในระบบนิเวศนั้น  ทำให้ระบบนิเวศนั้นมีความคงตัว  ทั้งนี้เพราะการผลิตอาหารสมดุลกับการบริโภคภายในระบบนิเวศนั้น  การปรับสภาวะตัวเองนี้  ทำให้การผลิตอาหาร และการเพิ่มจำนวนของสิ่งมีชีวิตอื่นๆในระบบนั้นมีความพอดีกัน  กล่าวคือจำนวนประชากรชนิดใดๆ ในระบบนิเวศจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนอย่างไม่มีขอบเขตได้


ที่มา:http://www.waghor.go.th/v1/elearning/nature/our_world1.php

ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource)

         ทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Resource)
         การเรียนรู้ด้านทรัพยากรธรรมชาติ  ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นต้นทุนหรือวัตถุดิบที่มนุษย์นำมาใช้เพื่อความเจริญทางเศรษฐกิจ ประเทศใดก็ตามที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศนั้นจะมีความร่ำรวยและมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ไม่ถูกวิธีก็ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติบางชนิดหมดสิ้นไปจากโลกนี้ได้ ดังนั้นจึงควรที่จะเรียนรู้ถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ เรียนรู้ถึงประเภทของทรัพยากรธรรมชาติและเข้าใจถึงทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้นเพื่อการวางแผนการจัดการที่มีคุณภาพ
          ความหมายและความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
        1.  ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ
            เกษม จันทร์แก้ว (2541, หน้า 138) ให้ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ (natural  resources) ว่าหมายถึง “สิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ และให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
            ชัยศรี ธาราสวัสดิ์พิพัฒน์ (2548, หน้า 92) ให้ความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ ว่าหมายถึง “สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีประโยชน์สามารถสนองความต้องการของมนุษย์ได้  หรือมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น บรรยากาศ ดิน น้ำ ป่าไม้ ทุ่งหญ้า สัตว์ป่า แร่ธาตุ  พลังงาน รวมทั้งกำลังจากมนุษย์ด้วย”
            จากความหมายที่กล่าวมา สรุปได้ว่าทรัพยากรธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยที่มนุษย์ไม่ได้สร้างขึ้น และมีประโยชน์ต่อมนุษย์”

         2.  ความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ
จากความหมายของทรัพยากรธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” นั้นคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเอง ดังนั้นทรัพยากรธรรมชาติจึงมีความสำคัญต่อมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้
             1.)  ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นแหล่งของปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ คือ
                 1.1)  เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เป็นแหล่งวัตถุดิบในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย มนุษย์นำไม้ หิน ทราย มาก่อสร้างบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ
                 1.2)  เป็นแหล่งอาหาร ไม่ว่าจะเป็น พืช สัตว์ 
                 1.3)  เป็นแหล่งที่มาเครื่องนุ่มห่ม ในอดีตมนุษย์ใช้ใบไม้เป็นเครื่องปกปิดร่างกาย ในปัจจุบันนำเส้นใยจากธรรมชาติ เช่น เส้นใหม ฝ้าย มาถักทอเป็นเสื้อผ้าปกปิดร่างกาย
                 1.4)  เป็นแหล่งที่มาของยารักษาโรค วิวัฒนาการจากการเก็บส่วนต่าง ๆ ทั้งของพืช และสัตว์มารักษาโรค ที่รู้จักกันในชื่อของ “สมุนไพร” ต่อมาก็ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมาเปลี่ยนสมุนไพรเป็นยาแผนปัจจุบัน ในประเทศไทยมีพืชที่สามารถใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคในท้องถิ่นมากกว่า 779 ชนิด (สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย, 2543)
            2.)   เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตที่มนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นขาดไม่ได้ ได้แก่ อากาศ น้ำ
            3.)   เป็นปัจจัยที่สำคัญในการผลิต หรือเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม เช่น การผลิตกระดาษต้องใช้เยื่อไม้ น้ำ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นวัตถุดิบ
            4.)   ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ บ่งชี้ถึงความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเจริญของสังคมมนุษย์
            5.)   มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรง เช่น ทรัพยากรพลังงาน แร่ อัญมณีที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือโดยทางอ้อม เช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อนหย่อนใจ นำรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ
            6.)  มีความสำคัญด้านวิชาการ ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์
            7.)   มีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศทั้งระบบนิเวศบนบก ระบบนิเวศทางน้ำ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติประเภทป่าไม้มีประโยชน์ต่อองค์ประกอบของผู้ผลิตที่ต้องสร้างอาหารเลี้ยงสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ เป็นต้น
            8.)  มีความสำคัญต่อการหมุนเวียน หรือวัฏจักรของแร่ธาตุและสารอาหารในระบบนิเวศ
        ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
       ทรัพยากร เป็น 1 ใน 4 ของมิติทางสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรแบ่งเป็นทรัพยากรที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งเรียกว่า “ทรัพยากรธรรมชาติ” และทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้น ทรัพยากรธรรมชาติมีมากกมายหลายชนิด หลายประเภท สามารถแบ่งตามการนำมาใช้งาน

     ประเภทของทรัพยากรธรรมชาติ
สามารถแบ่งตามการนำมาใช้งานและผลที่เกิดขึ้นได้ 3 ประเภท ดังนี้

          1. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมด
ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วไม่หมดหรือไม่สูญหาย (inexhaustible natural resources)    ทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ ได้แก่ บรรยากาศ น้ำในวัฎจักร แสงอาทิตย์ เป็นต้น ลักษณะของทรัพยากรธรรมชาติในประเภทนี้ แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

            1.1  บรรยากาศ (atmosphere) ในบรรยากาศประกอบไปด้วยอากาศซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมีชีวิต นอกจากนั้นยังมีความชื้น อุณหภูมิ และการเคลื่อนไหวของมวลอากาศ รวมเรียกว่า “ภูมิอากาศ (climate)” ซึ่งมีความสำคัญต่อลักษณะของดิน พืชพันธุ์ และสภาพอื่น ๆ ของสิ่งมีชีวิตบนพื้นผิวโลก ดังนั้นบรรยากาศจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ บรรยากาศจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกันไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงจัดบรรยากาศอยู่ในทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้ไม่หมด
            1.2  น้ำที่อยู่ในวัฎจักร (water in cycle) น้ำที่อยู่ในวัฎจักรจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปจากสภาพหนึ่งไปเป็นอีกสภาพหนึ่งเรื่อยไปโดยไม่มีสิ้นสุด เช่น จากฝน หิมะ ลูกเห็บตกลงสู่พื้นดิน บางส่วนระเหยกลับไปสู่บรรยากาศ บางส่วนไหลซึมลึกลงไปเป็นน้ำใต้ดิน บางส่วนไหลไปตามพื้นผิวดินลงสู่แม่น้ำลำคลองออกสู่ทะเลมหาสมุทร  และกลับระเหยกลายเป็นไอน้ำอยู่ในบรรยากาศและจับตัวเป็นก้อนเมฆตกลงมาเป็นฝนอีก  การหมุนเวียนของน้ำแบบนี้จึงไม่มีที่สิ้นสุด มีอยู่ตลอดไป
         2.  ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้
ทรัพยากรธรรมชาติที่ทดแทนได้หรือรักษาไว้ได้ (replaceable and maintainable natural resources) แบ่งได้ดังนี้

            2.1  น้ำที่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง (water in place) หมายถึง น้ำที่อยู่ในที่เฉพาะแห่ง เช่น น้ำในภาชนะ น้ำในเขื่อน เมื่อใช่ไปเรื่อย ๆ ปริมาณจะลดลง แต่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้เมื่อเกิดฝนตก  น้ำที่อยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งเมื่อใช้แล้วก็จะหมดไป แต่สามารถที่จะหามาทดแทนใหม่ได้ 
            2.2  ดิน  (soil) หมายถึง เนื้อดินที่เป็นที่อยู่อาศัยของพืช  เป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช เพราะเหตุที่อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย  ยารักษาโรค ส่วนมากมาจากพืชซึ่งเจริญเติบโตมาจากดินหรือได้จากสัตว์ซึ่งกินพืช ดินจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต แต่ดินเกิดทดแทนตามธรรมชาติได้ช้ามาก กว่าจะได้เนื้อดินหนา 1 นิ้ว ธรรมชาติต้องใช้เวลาสร้างถึง  100  ปี 1,000  ปี เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ตามถึงดินจะเกิดได้ช้าแต่มนุษย์ก็สามารถดูแลรักษาดินให้คงมีคุณภาพเหมือนเดิมได้โดยการใส่ปุ๋ยหรือการใช้ประโยชน์จากดินอย่างถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์  เพราะฉะนั้นลักษณะสมบัติของดินในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติแล้วจัดเป็นประเภทที่สามารถรักษาให้คงอยู่ได้ (maintainable) มากกว่าการเกิดขึ้นทดแทน (replaceable) 
            2.3  ป่าไม้ (forest) ทรัพยากรป่าไม้นับว่ามีความสำคัญมากในแง่ของการอนุรักษ์ดิน  น้ำ  และสัตว์ป่า ซึ่งอำนวยประโยชน์ให้มนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากป่าไม้สามารถขึ้น   ทดแทนโดยธรรมชาติ หรือการปลูกให้เป็นป่ามาใหม่ได้ ป่าไม้จึงถูกจัดอยู่ในทรัพยากรธรรมชาติพวกที่เกิดขึ้นทดแทนและรักษาให้คงอยู่ได้
            2.4  ทุ่งหญ้า (rangeland) หมายถึง พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่ส่วนใหญ่มีพืชวงศ์หญ้า  และพืชพันธุ์อื่นๆ ขึ้นอยู่เองตามธรรมชาติ มักเป็นที่ที่มีฝนตกน้อย ใช้เป็นที่หากินของสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า  เป็นที่เหมาะแก่การดำเนินการจัดการโดยอาศัยพื้นฐานทางนิเวศวิทยามากกว่าพื้นฐานทางการเกษตร และใช้ประโยชน์แบบเอนกประสงค์ทุ่งหญ้าเช่นเดียวกับป่าไม้ จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เกิดขึ้น ทดแทน และรักษาให้คงอยู่ได้
            2.5  สัตว์ป่า  (wildlife)  
            2.6  ทรัพยากรกำลังงานมนุษย์ (human resources) กำลังงานมนุษย์จัดเป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทหนึ่ง มนุษย์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตามกฎของธรรมชาติ  มนุษย์สามารถใช้ประโยชน์จากตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ชาติและต่อสังคม โดยอาศัยกำลังงานที่มีอยู่ในตัวมนุษย์และกำลังที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ กำลังงานมนุษย์แบ่งออกได้เป็น 2 ทางคือ กำลังงานทางร่ายกายและกำลังทางจิต (body and spirit) กำลังงานทางร่างกาย  ได้แก่  ความแข็งแรงของร่างกาย ส่วนกำลังทางจิต ได้แก่ การนึกคิดและการใช้เหตุผล การจินตนาการ ถ้ามนุษย์มีความเป็นอยู่ดี มีการศึกษา อนามัยดี มีความรู้ ความชำนาญและประกอบการงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือรู้จักใช้ทรัพยากรอื่น ๆ อย่างชาญฉลาดแล้วย่อมทำให้กำลังงานที่ต้องสูญเปล่าลดน้อยลงและสามารถใช้กำลังงานให้เป็นประโยชน์แก่งานในทุก ๆ ด้านได้อย่างเต็มที่ กำลังงานมนุษย์จึงเป็นทรัพยากรที่ควรจะได้มีการอนุรักษ์และจัดการใช้ประโยชน์ให้เหมาะสม
         3. ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป
      ทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้แล้วหมดไป (exhaustible natural resources)  ทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์ให้สามารถมีใช้ประโยชน์ได้นานที่สุด ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติประเภทนี้ ได้แก่

           3.1  ทรัพยากรแร่ธาตุ 
           3.2  ทรัพยากรพลังงาน
           3.3  ที่ดินในสภาพธรรมชาติ (land in natural condition) ได้แก่ สถานที่ใช้ศึกษาธรรมชาติและสถานที่วิเวกห่างไกลผู้คน (wilderness area) หากสถานที่เหล่านี้ถูกทำลายจะไม่สามารถสร้างมาทดแทนใหม่ได้ ประเทศที่เจริญมีวัฒนธรรมสูงยิ่งมีความจำเป็นในการที่จะรักษาสภาพธรรมชาติที่ไม่เคยถูกรบกวนมาก่อนไว้สำหรับศึกษาหาความรู้ตามธรรมชาติ มีไว้สำหรับคุณค่าทางจิตใจ เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นมาใหม่ได้เพราะมีลักษณะสมบัติเฉพาะตัว (unique) เช่น น้ำตก หน้าผา จุดเด่นตามธรรมชาติต่างๆ

ที่มา: http://local.environnet.in.th/formal_data2.php?id=71

หุ่นกระบอก

หุ่นกระบอก

           ประวัติความเป็นมา
          จากลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในหนังสือ สาส์นสมเด็จ ทำให้ทราบว่า หุ่นกระบอกเริ่มขึ้นครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๓๕ ที่เมืองสุโขทัย โดยนายเหน่ง สุโขทัย ซึ่งเป็นต้นคิด จำแบบอย่างมาจากหุ่นไหหลำ นำมาดัดแปลงเป็นหุ่นแต่งอย่างไทย และนายเหน่ง ได้ใช้เล่นหากินอยู่ที่เมืองสุโขทัย จนมีชื่อเสียง ส่วนที่กรุงเทพฯ ได้เกิดคณะหุ่นกระบอกของ ม.ร.ว. เถาะ พยัคฑเสนา มหาดเล็กในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ความคิดริเริ่มก่อตั้งคณะหุ่นของหม่อมราชวงศ์เถาะ ก่อให้เกิดยุคทองของการเล่นหุ่นชนิดนี้ขึ้นในสมัยเดียวกัน และต่อมาภายหลัง
            ลักษณะของหุ่น
            ศีรษะ โบราณจะแกะด้วยไม้เนื้อเบาทั้ง แท่ง เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่าหุ่นใหญ่ แล้วปั้นเติมส่วนรายละเอียดต่างๆ ด้วยรัก หรือดิน หรือขี้ผึ้งผสมชัน บางคณะเป็นกระดาษที่ติดบนพิมพ์แล้วผ่าออกแบบการทำหัวโขน แต่ตรงคอหุ่นทุกหัว จะต้องมีแกนไม้กลมยาวลงมาประมาณ 3 นิ้ว สำหรับเสียบกับบ่าหุ่น
            เครื่องประดับศีรษะ
๑.ชฎา
๒.รัดเกล้า
๓.มงกุฎกษัติย์
๔.กะบังหน้า
๕.ปันจุเหร็จ 
๖.หัวม้า,หัวช้าง ฯลฯ
ลักษณะตัวหุ่น
คือไม้กระบอกมีไหล่ทำด้วยไม้เจาะรูสำหรับเสียบหัว เสื้อหุ่นเป็นฟ้าฟืนเดียวกันพับครึ่งเย็บเป็นถุงคลุมไหล่หุ่น มีรูตรงคอสำหรับเสียบหัว และตรงมุมผ้าทั้งสองข้างสำหรับมือหุ่นโผล่ มือหุ่นทั้งสองข้างมีไม้ไผ่เหลาเล็กเสียบต่อจากมือลงมาสำหรับจับเชิด ยาวระดับเดียวกับปลายด้านล่าง ไม้ไผ่นี้เรียกกันว่า "ตะเกียบ" 

             วัสดุในการทำหุ่น
๑.หินสบู่แกะลายกระจัง สำหรับปั๊มลาย 
๒.ทองคำเปลว 
๓.ผ้าไหม หรือผ้าลายดอก 
๔.ผม
๕.ดิ้น, เลื่อม, โปร่งเงิน, โปร่งทอง, มันเงิน, มันทอง, ลูกปัดสีต่างๆ, ไหม, เชือกเงิน, เชือกทอง (มีทั้งของเทียมและของแท้) 
๖.สีสำหรับเขียนหน้า 
๗.ฐานหุ่น, คอหุ่น, บ่าหุ่น 
๘.ผ้าทำดอกไม้ 
๙.ผ้าทำพัด, ไม้สำหรับเหลาก้านพัด (แผ่นทองเหลืองหรือทองแดงก็ได้) 
๑๐.ปูนพลาสเตอร์, ดินน้ำมัน, ซิลิโคน, โพลิเอสเตอร์ ฯลฯ 

              การเชิดหุ่น
            การเชิดหุ่นกระบอกยึดถือวิธีเชิดโดยดัดแปลงมาจากการแสดงละครรำ แบบละครนอก กล่าวคือผู้เชิดจะเชิดหุ่นมีท่าทางการร่ายรำแบบละครรำ แต่แสดงให้ผู้ชมเห็นเพียงครึ่งตัวเท่านั้น ส่วนล่างของตัวหุ่นนั้น ใช้ฉากบังไว้ไม่ให้ผู้ชมเห็นเพราะเป็นแกนกระบอกไม้ไผ่ที่ต้องใช้มือถือสำหรับเชิด ฉะนั้นผู้ชมจะเห็นท่ารำของหุ่นเพียงแค่ส่วนมือ และลำตัวของหุ่นเท่านั้น อนึ่ง ผู้เชิดจะเป็นผู้เจรจาและในบางครั้งก็ขับร้องแทนตัวหุ่นที่ตนกำลังเชิดอยู่นั้นด้วย บทที่ผู้เชิดมักจะต้องขับร้องเอง เมื่อเชิดหุ่นตัวใดมีบทบาทอย่างไรผู้เชิดก็จะขับร้องและเจรจาตามบทบาทของหุ่นตัวนั้

เอกสารโบราณประเภทจารึก


เอกสารโบราณประเภทจารึก
           จารึก คือ เอกสารโบราณประเภทหนึ่ง ที่มีรูปอักษรเป็นร่องรอยลึกลงในเนื้อวัตถุต่างๆ ซึ่งสำเร็จด้วยกรรมวิธีจารึก เช่น รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นศิลา เรียกว่าศิลาจารึก รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นไม้ เรียกว่า จารึกบนแผ่นไม้ รูปอักษรที่ปรากฏบนแผ่นโลหะ ซึ่งมีลักษณะสี่เหลี่ยมคล้ายใบลาน เช่น แผ่นทอง แผ่นเงิน แผ่นนาก เรียกว่า จารึกลานทอง จารึกลานทองแดง จารึกลานเงิน และจารึกลานนาก เป็นต้น
           ความสำคัญของจารึก คนสมัยโบราณจะจารึกอักษรไว้บนวัตถุเนื้อแข็ง มีสภาพคงทนถาวร มีอายุการใช้งานได้นาน เช่นผนังถ้ำ แผ่นศิลา แผ่นดินเผา แผ่นไม้ และแผ่นโลหะอื่นๆ ด้วยวัตถุที่แหลมคม ซึ่งเรียกว่า เหล็กจาร อักษรที่จารึกจะเป็นข้อความที่บ่งบอกให้ทราบถึงวัตถุประสงค์ของผู้ทำจารึก หรือประกาศเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นให้ผู้อื่นทราบ โดยไม่มีเจตนาที่บันทึกไว้เพื่ออ่านเอง ฉะนั้น จารึกจึงเป็นหลักฐานทางเอกสารที่สำคัญ ที่สะท้อนให้ประชาชนในปัจจุบันได้เห็นสภาพทางสังคมของบรรพชนแต่ละท้องถิ่นในอดีต แต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ภาพที่สะท้อนออกมาจากข้อความของจารึกมีทั้งด้านประวัติศาสตร์ ลัทธิความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อารยธรรม และธรรมเนียมประเพณีการดำรงชีวิตในสังคม เป็นต้น ซึ่งได้กลายเป็นมรดกตกทอดและพัฒนามาจนถึงสังคมปัจจุบัน
           อักษรที่ใช้ในจารึก เอกสารประเภทจารึกที่พบในประเทศไทยมีรูปแบบอักษรต่างๆ ตามอิทธิพลวัฒนธรรมที่หลั่งไหลเข้ามาสู่ดินแดนบริเวณแถบนี้ในอดีต หรือที่เรียกว่า ดินแดนของประเทศไทย ในปัจจุบันเมื่อแบ่งเป็นกลุ่มประเภทอักษรตามอายุสมัยแล้ว ได้ดังนี้
     ๑. อักษรปัลลวะ
     ๒. อักษรหลังปัลลวะ (ปัลลวะที่เปลี่ยนรูป)
     ๓. อักษรมอญโบราณ
     ๔. อักษรขอมโบราณ
     ๕. อักษรขอม
     ๖. อักษรมอญ
     ๗. อักษรไทยสุโขทัย
     ๘. อักษรธรรมล้านนา
     ๙. อักษรไทยล้านนา
     ๑๐. อักษรไทยอยุธยา
     ๑๑. อักษรธรรมอีสาน
     ๑๒. อักษรไทยอีสาน
     ๑๓. อักษรไทยใหญ่
     ๑๔. อักษรไทยย่อ
     ๑๕. อักษรขอมย่อ
     ๑๖. อักษรพม่า
     ๑๗. อักษรพม่าย่อ
     ๑๘. อักษรเฉียงขอม
     ๑๙. อักษรเฉียงคฤนถ์
     ๒๐. อักษรเฉียงพราหมณ์
     ๒๑. อักษรอริยกะ
     ๒๒. อักษรทมิฬ
     ๒๓. อักษรจีน
     ๒๔. อักษรยาวี
     ๒๕. อักษรสิงหฬ
     ๒๖. อักษรเทวนาครี
     ๒๗. อักษรบาหลีโบราณ
     ๒๘. รูปอักษรอื่นๆ

อักษรจารึกที่พบในประเทศไทย เฉพาะที่สำคัญซึ่งมีอายุเก่าแก่ตามยุคสมัยที่พัฒนามาโดยลำดับ คือ
     ๑. อักษรปัลลวะ จากจารึกบ้านวังไผ่ เพชรบูรณ์ สันนิษฐานว่า พ.ศ.๑๐๙๓
         อักษรปัลลวะ จากจารึกปราสาทเขาน้อย ปราจีนบุรี พ.ศ.๑๑๘๐
     ๒. อักษรหลังปัลลวะ จากจารึกเนินสระบัว ปราจีนบุรี พ.ศ.๑๓๐๔
     ๓. อักษรมอญโบราณ จากจารึกเสาแปดเหลี่ยม ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔
     ๔. อักษรขอมโบราณ จากจารึกปราสาทตาเมือนธม พ.ศ.๑๔๒๑
     ๕. อักษรไทยสุโขทัย จากจารึกพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ.๑๘๓๕
     ๖. อักษรไทยสมัยอยุธยา จากจารึกแผ่นดินดีบุก พ.ศ.๑๙๑๗
     ๗. อักษรธรรมล้านนา จากจารึกลานทองคำ พ.ศ.๑๙๑๙
     ๘. อักษรไทยล้านนา จากจารึกลำพูน ๙ พ.ศ.๑๙๕๔
     ๙. อักษรไทยอีสาน จากจารึกหนองคาย ๑ พ.ศ.๒๐๑๕


          ภาษาที่ใช้ในจารึก เอกสารโบราณประเภทจารึกที่พบในประเทศไทย นอกจากจะมีรูปอักษรแบบต่างๆ แล้ว ยังจารึกเป็นภาษาต่างๆ ด้วย เมื่อจารึกมีอายุเก่าแก่มาก ประมาณ ๑,๕๐๐ ปีเป็นต้น ภาษาที่ใช้ในจารึกก็เก่ามากเช่นกัน จึงเป็นการยากที่คนในปัจจุบันจะเข้าใจ ฉะนั้น นักภาษาโบราณซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาและอักษรโบราณจึงต้องถ่ายทอด หรือปริวรรตอักษรในจารึกเป็นอักษรไทยปัจจุบัน แล้วแปลภาษาที่ปรากฏในจารึกเป็นภาษาไทยปัจจุบัน เพื่อเผยแพร่ข้อความในจารึกสมัยต่างๆ ให้ประชาชนคนปัจจุบันเข้าใจได้ ภาษาที่ปรากฏใช้ในจารึก มีดังนี้
     ๑. ภาษาบาลี
     ๒. ภาษาสันสกฤต
     ๓. ภาษามอญ
     ๔. ภาษาเขมร
     ๕. ภาษาทมิฬ
     ๖. ภาษาพม่า
     ๗. ภาษาไทยใหญ่
     ๘. ภาษาไทยโบราณ
     ๙. ภาษาไทยล้านนา
     ๑๐. ภาษาไทยอีสาน
     ๑๑. ภาษาอาหรับ
     ๑๒. ภาษามลายู
     ๑๓. ภาษาจีน
     ๑๔. ภาษาอื่นๆ

            ความเป็นมาของรูปอักษร อักษรปัลลวะถือว่าเป็นรูปอักษรที่เก่าที่สุดเท่าที่พบจารึกในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า ปัลลวะ เป็นชื่อของราชวงศ์หนึ่งซึ่งเคยเจริญรุ่งเรืองในภาคใต้ของอินเดีย อักษรที่ใช้ในสมัยของราชวงศ์นี้ จึงเรียกว่า อักษรปัลลวะ
          อินเดียสมัยโบราณ เป็นประเทศที่มีความเจริญสูงสุด เป็นประเทศมหาอำนาจในด้านอารยธรรม ได้เผยแพร่อิทธิพลทางอารยธรรมออกสู่ประเทศใกล้เคียงทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมีนักบวชในศาสนาและพ่อค้าวาณิช เป็นผู้นำอารยธรรมไปเผยแพร่ในถิ่นที่เดินทางไปค้าขายในต่างแดน เมื่อถึงบ้านใด เมืองใด พวกพ่อค้าวาณิชเหล่านนี้ ก็หยุดพักปฏิบัติภารกิจของตนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ได้นำอารยธรรมใหม่ๆ ที่ตนมีออกเผยแพร่ ถ่ายทอดแก่ชนพื้นเมืองในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย ทำให้สังคมท้องถิ่นนั้นๆ พัฒนาตนเองไปสู่ความเจริญตามอารยธรรมของอินเดีย ทั้งทางด้านวัฒนธรรมประเพณี ลัทธิความเชื่อทางศาสนา อักษรและภาษา เป็นต้น เราพบจารึกบ้านวังไผ่ ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จารึกวัดมเหยงค์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จารึกปากน้ำมูล ที่จังหวัดอุบลราชธานี จารึกกไดอัง ที่ประเทศกัมพูชา จารึกของพระเจ้าปูรณวรมัน ที่ประเทศอินโดนีเซีย จารึกพระเจ้ามหานาวิกพุทธคุปตะ ที่ประเทศมาเลเซีย จารึกปยู ที่ประเทศพม่า และจารึกสถูปศิลา ที่ประเทศบรูไน เป็นต้น จารึกเหล่านี้เป็นอักษรปัลลวะ และเป็นจารึกที่มีอายุสมัยเก่าที่สุดของประเทศนั้นๆ นั่นหมายถึงว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ได้รับอารยธรรมทางด้านอักษรจากอินเดีย สมัยราชวงศ์ปัลลวะ ที่เจริญรุ่งเรืองทางตอนใต้ของอินเดีย ในพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑
          ในประเทศไทย เมื่อเราพบว่า จารึกอักษรปัลลวะเป็นอักษรที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด นั่นหมายถึงว่า ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมด้านอักษรจากประเทศอินเดียในสมัยราชวงศ์ปัลลวะ จารึกบ้านไผ่ ซึ่งถือว่าเป็นจารึกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทยในขณะนี้ คือประมาณ พ.ศ.๑๐๙๓ (สันนิษฐานจากข้อความจารึกที่ว่า พระองค์ (พระเจ้าภววรมันที่ ๑) ได้สร้างจารึกหลักนี้ในปีที่ขึ้นครองราชย์ของพระองค์ซึ่งตรงกับ พ.ศ.๑๙๐๓”) ฉะนั้น จึงถือว่าประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางด้านอักษรจากประเทศอินเดียเมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๑ และอักษรปัลลวะนี้เอง ที่เป็นต้นแบบให้วิวัฒนาการเป็นอักษรต่างๆ เช่น อักษรขอมโบราณ อักษรมอญโบราณ และวิวัฒนาการต่อไปเป็นอักษรไทยโบราณ อักษรไทยล้านนา และอักษรไทยน้อย เป็นต้น ตามลำดับ

           ประโยชน์ของศิลาจารึก ในอดีตกาลระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๙ ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ยังไม่มีกระดาษสำหรับใช้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น บรรพชนจึงใช้ศิลาเป็นที่จดบันทึก เพื่อบอกให้ผู้อื่นทราบเหตุการณ์ดังกล่าว เราเรียกแผ่นศิลาที่จดบันทึกเหตุการณ์นั้นว่า ศิลาจารึก ฉะนั้น ประโยชน์ของศิลาจารึก คือ
๑.     เป็นเอกสารอ้างอิงทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ อักขรวิทยา ศาสนา และสังคม
     ๒. ทำให้ทราบประวัติศาสตร์การก่อตั้ง การปกครองบ้านเมืองในอดีตกาล
     ๓. ทำให้ทราบประวัติของโบราณสถานที่มีอยู่ในประเทศไทยว่า ใครเป็นผู้สร้างและสร้างเพื่อวัตถุประสงค์ใด
     ๔. ทำให้ทราบประวัติของลัทธิศาสนาที่เข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน
     ๕. ทำให้ทราบว่า กลุ่มชนสมัยโบราณได้รับอิทธิพลทางการศึกษา วัฒนธรรมอารยธรรม ประเพณี อักษร และภาษามาจากประเทศอินเดีย
     ๖. ทำให้ทราบว่า อักษรที่ใช้ในดินแดนที่เป็นประเทศไทย เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑
     ๗. ทำให้ทราบว่า อักษรปัลลวะเป็นต้นกำเนิดวิวัฒนาการเป็นอักษรมอญ ขอม และไทย
     ๘. ทำให้ทราบว่า กลุ่มชนสมัยโบราณ ใช้ภาษาบาลี สันสกฤต มอญ เขมรและไทย
     ๙. ทำให้ทราบข้อมูลความเคลื่อนไหว โยกย้ายถิ่นของกลุ่มชนท้องถิ่นที่เป็นมอญ เขมรและไทย

           คัมภีร์ใบลาน
คัมภีร์ใบลาน คือ เอกสารที่ทำจากใบของต้นลานซึ่งเป็นต้นไม้ป่าชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายต้นตาล แต่มีใบและทางยาวกว่าต้นตาล มีผลเป็นทะลายเหมือนต้นหมากหรือต้นมะพร้าว แต่ผลจะมีขนาดเล็กเท่าขนมบัวลอย ใช้ทำเป็นของหวานรับประทานได้ หรือจะเรียกว่าเป็นตระกูลเดียวกับต้นตาลก็ได้ ก่อนที่จะนำใบลานมาทำให้เป็นคัมภีร์ใบลานหรือหนังสือใบลานนั้น ต้องผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การเลือกใบลาน นิยมเลือกเฉพาะใบที่ไม่อ่อนไม่แก่และที่มีใบขนาดเท่ากัน เมื่อเลือกเสร็จก็ทำการตัดจากต้นแล้วเจียนก้านออกมัดรวมกันนำไปแช่น้ำ ประมาณ ๑ คืน แล้วนำขึ้นมาตากแดดให้แห้ง เสร็จแล้วนำใบลานแต่ละใบมาแทงบนขนอบที่เป็นแม่พิมพ์สำหรับแทงใบลานโดยเฉพาะ อีกวิธีหนึ่งคือ นำใบลานที่มัดรวมกันไปนึ่งหรืออบในเตา เพื่อให้ใบลานแห้งสนิทเร็วขึ้นและช่วยไม่ให้เกิดเชื้อราอีกด้วย จากนั้นนำใบลานแต่ละใบที่แทงแล้วมาเรียงซ้อนกันประกับหน้าหลังด้วยขนอบตามต้องการ ใช้มีดคมตัดลานให้เสมอ หรือจะใช้กบไสเพื่อให้ขอบใบลานทั้ง ๔ ด้าน คลี่ออกแล้วใช้ทรายละเอียดคั่ว หรือตากแดด ให้ร้อนจัดโรยลงบนใบลาน ใช้ลูกประคบถูไปมาหลายๆ ครั้ง เพื่อให้หน้าลานสะอาดไม่มีฝุ่นจับ ใบลานจะเรียบเสมอกันตลอดแล้วจึงใช้เหล็กแหลมเผาไฟเจาะตามช่องที่แทงไว้แต่ตอนแรกทั้งด้านซ้าย-ขวา จากนั้นใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดใบลานทีละใบอีกครั้งหนึ่ง ก็สำเร็จเป็นใบลานพร้อมที่จะใช้จารหนังสือตามต้องการ
           หนังสือสมุดไทยและอื่นๆ
           หนังสือสมุดไทย คือ เอกสารโบราณที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ทำเป็นกระดาษได้ เช่น เปลือกปอ เปลือกข่อย เปลือกสา ใยสับปะรด เป็นต้น ทำให้หนาพอสมควรและเป็นแผ่นยาวๆ ติดต่อกันพับกลับไปกลับมาได้ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้รองรับการเขียน การชุบตัวอักษร การเขียนภาพ การเขียนลายเส้นต่างๆ และเขียนได้ทั้ง ๒ ด้าน ในลักษณะเป็นหนังสือจดหมายเหตุบ้าง หมายรับสั่งบ้าง ตำนานบ้าง ตำราบ้าง วรรณกรรมเรื่องต่างๆ บ้าง ที่นิยมเรียกว่า สมุดข่อย เพราะส่วนมากใช้เปลือกข่อยทำเป็นกระดาษ และคนไทยเป็นผู้คิดค้นประดิษฐ์ขึ้น จึงเรียกว่า หนังสือสมุดไทย มี ๒ สี คือ สีดำ เพราะย้อมกระดาษเป็นสีดำ จึงเรียกว่าหนังสือสมุดไทยดำ ส่วนที่เป็นสีขาว เพราะกระดาษไม่ได้ย้อมสี คงสีตามธรรมชาติ เรียกว่า หนังสือสมุดไทยขาว
        กระดาษเพลา คือ กระดาษที่ทำจากเปลือกไม้ชนิดต่างๆ เหมือนอย่างทำหนังสือสมุดไทย แต่ทำให้เป็นแผ่นบางๆ เรียกว่า กระดาษเพลา ทั้งนี้ต้องการทำเพื่อใช้ในรูปแบบหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) มีไปมาระหว่างกรุงเทพฯ ถึงหัวเมือง หรือจากหัวเมืองถึงกรุงเทพฯ ทำเป็นใบบอกบ้าง ใบฎีกาและอื่นๆ บ้าง นิยมเขียนด้วยดินสอ ไม่นิยมเขียนด้วยเส้นหมึก เพราะกระดาษบาง หมึกจะซึม ทำให้อ่านตัวอักษรไม่ชัดเจน มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวบ้าง สั้นบ้าง แล้วแต่เรื่อง
       กระดาษสา คือ กระดาษที่ทำจากเปลือกของต้นสาโดยตรง ถ้าต้องการทำเพื่อใช้ในรูปหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) ใบบอก ใบฎีกา ทำสำเนาและอื่นๆ ก็จะทำเป็นแผ่นบางๆ ถ้าต้องการทำเป็นหนังสือจดหมายเหตุ หมายรับสั่ง ตำนาน พงศาวดาร เป็นต้น ก็ทำให้หนาแข็งแรงพอที่จะเป็นหนังสือได้
       กระดาษฝรั่ง สมุดฝรั่ง คือ กระดาษที่ชาวต่างประเทศ (ฝรั่ง) เป็นผู้คิดค้นผลิตขึ้นเป็นแผ่นบางๆ ไทยนำมาใช้ในหลายรูปแบบโดยเฉพาะเป็นหนังสือราชการ (จดหมายราชการ) และอื่นๆ เมื่อเห็นว่าใช้ได้ดี สามารถจะจัดเก็บได้สะดวกเป็นระเบียบ คนไทยจึงนำมาใช้แทนเอกสารประเภทกระดาษเพลา กระดาษสา และเพราะฝรั่งเป็นผู้ผลิตจึงเรียกว่า กระดาษฝรั่ง เมื่อต้องการจัดเข้าเป็นชุดไม่ให้แต่ละแผ่นกระจัดกระจายก็นำแต่ละแผ่นนั้นมาเรียงซ้อนกัน ทำใบปกหน้า-หลัง ให้เป็นรูปเล่ม จึงเรียกว่า สมุดฝรั่ง
       ใบจุ้ม คือ เอกสารที่ทำมาจากผ้าฝ้าย ผ้าไหม หรือด้าย ทอเป็นผืนยาว รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จุดประสงค์เพื่อต้องการใช้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ ตำนานพงศาวดาร เนื้อหาส่วนใหญ่ที่พบเป็นเอกสารทางราชการประเภทจดหมายเหตุ ลักษณะเส้นอักษรที่ปรากฎ คือ เส้นจากการใช้ปากกาคอแร้ง หรือปากไก่จุ่มหรือจุ้มหมึก แล้วเขียนตัวอักษรไทยน้อย บันทึกข้อความเนื้อหาเป็นพระราชโองการหรือเหตุการณ์บ้านเมืองเกี่ยวกับการปกครองของอาณาจักรล้านช้าง และส่วนใหญ่ประทับตราประจำพระองค์ หรือตราประจำตำแหน่งของผู้ออกหนังสือไว้ตอนท้ายด้วย

เกษียร มะปะโม นักอักษรศาสตร์ ๙ ชช. (ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านภาษาโบราณ)
เอกสารโบราณ ในคู่มือปฏิบัติงานเกี่ยวกับเอกสารโบราณ กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร